Emily in Paris เรื่องวุ่นๆ ของความต่าง จากฝรั่งเศสถึงยูเครน




Emily in Paris ซีรีส์ดังในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่หลายคนดูซีซั่น 2 ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา จบไปแล้ว ในแบบที่หลายคนดูเพลินๆ ปิดวันหยุดยาวได้เบาๆ 10 Episodes หรือ 10 ตอนเป็นที่เรียบร้อย แต่อาจมีบางคนไม่เพลินด้วย เพราะรู้สึกถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม

เรื่องราวของ Emily in Paris ตั้งแต่ซีซั่นแรกเมื่อปี 2020 จนมาซีซั่นที่สองปี 2021 เป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดเนื้อหาง่ายๆ ของสาวน้อย เอมิลี่ คูเปอร์ (Emily Cooper) แสดงโดย ลิลี่ คอลลินส์ (Lily Collins) ที่นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว ยังเป็นโปรดิวเซอร์อีกด้วย เอมิลี่เป็นนักการตลาดที่เชี่ยวชาญการคิดกลยุทธ์ใช้โซเชียลมีเดียให้กับแบรนด์ต่างๆ ทำงานในบริษัทที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา แต่จังหวะชีวิตมีทางเลือกต้องไปทำงานในบริษัทเล็กๆ ที่ปารีส ฝรั่งเศสที่เพิ่งถูกเทคโอเวอร์ เพื่อแลกกับการเติบโตในหน้าที่การงาน

เมื่อถึงปารีส ก็เจอเรื่องวุ่นๆ ตามสูตร เพราะความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ความคิด ค่านิยมการใช้ชีวิต ระหว่างสไตล์ชาวอเมริกัน กับชาวฝรั่งเศส ที่ไม่ใช่เพียงแค่การนับชั้นในตึกต่างจากในอเมริกา เพราะฝรั่งเศสเริ่มนับชั้นที่ 2 เป็นชั้น 1 ยังรวมไปถึงการสื่อสารที่ชาวฝรั่งเศสไม่นิยมพูดภาษาอังกฤษ ส่งต่อไปยังเรื่องวุ่นๆ ที่ออฟฟิศ กับการรับน้องจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศส และแน่นอนเอมิลี่ต้องเจอกับเรื่องความรักที่ซับซ้อนในความสัมพันธ์รักสามเส้าอีกด้วย

ตัวละครมีบทที่ผู้ชมคุ้นเคยทั้งอาชีพ บุคคลิก ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การกิน ดื่มเที่ยว และการแต่งตัว แต่ละ EP ยาวประมาณ 30 นาที เมื่อรวมกับนักแสดงมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง และการนำเสนอมุมต่างๆ ของมหานครปารีส ที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยวได้ออกมาอย่างสวยงาม ทำผู้ชมเข้าถึงง่าย และดูได้เรื่อยๆ จนจบลงที่หลายคนรอไปลุ้นต่อว่าทางเลือกของเอมิลี่จะไปยังไงต่อ เพราะทิ้งตัดจบซีซั่นสองไว้อย่างง่ายๆ ว่ายังมีต่อแน่นอน

แต่ระหว่างนี้ คำวิจารณ์ต่อ Emily in Paris ซีซั่นสอง ก็มาตามคาด เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่เกิดกับซีซั่นแรก ที่ชาวฝรั่งเศสบางส่วนเองก็ค่อนข้างเคืองกับการวิจารณ์วิถีการทำงาน ผ่านบทตัวละครชาวฝรั่งเศส ที่มาทำงานสาย กินข้าวเที่ยงนาน และอีกสารพัดในวัฒนธรรมการทำงานที่ดูไม่ตั้งใจ และไม่จริงจัง เมื่อเทียบกับระบบของชาวอเมริกัน เพราะแนวคิดการใช้ชีวิตที่ต่างกันในการสร้างสมดุลชีวิตอย่างมีความสุข

สำหรับซีซั่นสองนี้มีรายงานล่าสุดจากสื่อต่างประเทศหลายสำนักว่า Oleksandr Tkachenko รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของยูเครน ออกมาแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย เทเลแกรม ถึงความไม่เหมาะสมในเนื้อหาตอนหนึ่งใน EP. 4 ที่ดูหมิ่นชาวยูเครน ผ่านตัวละครหญิงสาวในเรื่องที่มาจากยูเครน เมืองเคียฟ แต่งตัวเชย ชอบของฟรี และเป็นคนขี้ขโมย จนสร้างภาพลักษณ์แย่ๆ ของสาวยูเครน ต่อสายตาชาวโลก

เรื่องราวเริ่มต้นที่ชั้นเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศส ที่เอมิลี่ต้องจับคู่เพื่อนร่วมชั้นเรียนเพื่อทำการบ้าน เขียนสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับคู่ของตัวเอง เอมิลี่ เลือกคู่กับ เพทรา ที่เล่นโดยนักแสดงยูเครน ทั้งสไตล์การแต่งตัว ไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน ที่วันหนึ่งเพทรานัดเอมิลี่ไปช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า เพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น จู่ๆ เพทราก็ชวนเอมิลี่ขโมยกระเป๋าในห้างแล้ววิ่งหนี แล้วเอมิลี่ต้องต่อว่าเพทรา และรีบวิ่งกลับเอากระเป๋าไปคืน

แน่นอนว่ายังมีชาวยูเครนในฝรั่งเศสบางส่วนก็แสดงความไม่พอใจผ่านโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งยังไม่มีท่าทีหรือปฏิกิริยาอะไรจากคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ออกมา

ไม่เพียงฝรั่งเศส ยูเครน ยังมีอังกฤษ อัลฟี่ หนึ่งในชายหนุ่มของเอมิลี่ ที่มีชีวิตตามแบบแผน ยอมทำงานที่ตัวเองมองว่าน่าเบื่อ แต่ก็ทำเพื่อเงิน พักผ่อนด้วยการเข้าผับ ดูฟุตบอล หรือชาวอเมริกันที่ทำงานหนัก ไม่แยกเวลาหยุดพักผ่อนกับเวลางาน เพื่อมุ่งมั่นความสำเร็จเป็นหลัก จนงานนี้เรียกได้ว่าโดนกันครบเลยทีเดียว