ร้อนจนคานเหล็กยังละลาย! ย้อนรอย วันทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา




ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามโลกครั้งที่สองแถบแปซิฟิกใต้ยังคงดำเนินต่อไป แม้กองทัพญี่ปุ่นจะถอยร่นไม่เป็นขบวน แต่ยังคงมีการรบพุ่งอย่างหนักหน่วงในหลายพื้นที่ เมื่อญี่ปุ่นยังไม่ยอมจำนน และทำให้อเมริกันต้องพบกับความสูญเสียอย่างหนักจากฝูงบินกามิกาเซ่ แผนทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกจึงถูกกำหนดขึ้น ประกอบไปด้วยเครี่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก 4 เครื่องยนต์ รุ่น B-29 superfortress ของ Boeing จำนวน 4 เครื่อง มีทั้งเครื่องหลักที่รับหน้าที่ทิ้งระเบิดปรมาณู เครื่องสำรอง เครื่องตามถ่ายภาพ และเครื่องที่ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู การทิ้งระเบิดจะต้องกระทำด้วยสายตาของนักบิน ไม่ใช่ด้วยเรดาร์ เมื่อเป้าหมายมีทั้งเมืองฮิโรชิมา โคคูระ นิอิกาตะ และนางาซากิ เครื่องบิน B-29 ลำที่รับหน้าที่บรรทุกและทำการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกก็คือ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ที่มีชื่อว่า enola gay เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกเรือด้วยการนำชื่อของมารดากัปตันมาใช้เป็นชื่อเรียกเครื่องบินที่ตนเองประจำการอยู่

เช้าวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 1945 ทุกอย่างถูกเตรียมความพร้อมสูงสุด มีการตัดสินใจที่จะประกอบชนวนระเบิดในขั้นตอนสุดท้ายขณะบินอยู่ในอากาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงหากเครื่อง enola gay เกิดประสบอุบัติเหตุขณะบินขึ้น เรืออากาศเอก ดิก เพียร์สัน ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว แต่ต่อมาก็มีความเข้าใจและพยายามโน้มน้าวลูกเรือว่า พวกเขาสามารถทำหน้าที่ในพื้นที่คับแคบได้ดี บ่ายวันเดียวกันนั้นเอง ประธานาธิบดีทรูแมน อนุมัติให้มีการใช้อาวุธใหม่ได้ ลูกเรือบรรจุระเบิดลิตเติ้ลบอยเข้าไปในห้องเก็บระเบิดขนาดใหญ่ ลิตเติ้ลบอยมีความยาว 12 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว หนักถึง 4,400 กิโลกรัม ใหญ่กว่าระเบิดทุกลูกที่ลูกเรือและกัปตันเคยเห็นมาในสงคราม แรงระเบิดของลิตเติ้ลบอยเท่ากับ TNT 20,000 ตัน หรือเท่ากับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 2,000 ลำ ที่สามารถขนน้ำหนักวัตถุระเบิดหนักขนาดนั้นไปได้ ดิก เพียร์สัน ฝึกซ้อมการติดชนวนระเบิดที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อความคล่องและป้องกันความผิดพลาด คืนนั้นลูกเรือของ enola gay เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับรายละเอียดและการทำงาน รวมถึงอำนาจการทำลายล้างของระเบิดปรมาณู และวิธีการบินหลบหลีกจากคลื่นกระแทก

กัปตันของเครื่อง enola gay นาวาอากาศโท พอล ทิบเบทส์ กับนักบินผู้ช่วยและลูกเรือพกอาวุธปืนพกประจำกาย กัปตันทิบเบทส์มีแคปซูลไซยาไนด์มากพอสำหรับทุกคนบนเครื่องหากเครื่องตกแล้วโดนจับ เครื่อง enola gay สตาร์ตเวลา 02.45 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 แล้วทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าของสนามบินในเกาะทิเนียน ฐานบินส่วนหน้าของกองทัพอเมริกันในหมู่เกาะมาเรียนนา ที่อยู่ใกล้กับเกาะญี่ปุ่นมากที่สุด ความท้าทายในการบินทิ้งอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ทำให้คลื่นกระแทกที่เกิดจากการระเบิดทำลายเครื่อง enola gay นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างและทำการทดลองระเบิดปรมาณูคำนวณว่า เครื่อง Boeing B-29 สามารถรอดจากแรงกระแทกที่ระยะห่าง 8 ไมล์ ที่ระดับความสูง 31,000 ฟุต กัปตันทิบเบทส์ตัดสินใจว่า การเลี้ยวหนีอย่างลึกโดยเปลี่ยนทิศทาง 155 องศา จะเป็นวิธีหลบหลีกแรงกระแทกที่ดีที่สุด ในเวลาน้อยกว่า 2 นาที เครื่อง B-29 สามารถเปลี่ยนทิศทางและบินได้เป็นระยะทาง 5 ไมล์ อีกเรื่องท่ีน่าห่วงก็คือ ความแม่นยำ การใช้ศูนย์เล็งนอร์เดน พลทิ้งระเบิด จะต้องทิ้งให้ระเบิดตกลงในระยะ 200 ฟุตจากจุดเล็ง สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างก็คือ เครื่องต้องบินเหนือมหาสมุทรและแผ่นดิน การผ่านจากน้ำไปเป็นแผ่นดินอาจก่อให้เกิดความสับสน ทิบเบทส์และลูกเรือได้ทำการฝึกบินเดินทางในลักษณะดังกล่าวที่คิวบา

หลังจากบินขึ้นมาได้ประมาณ 3 ชั่วโมง เครื่อง enola gay บินอยู่เหนือหมู่เกาะอิโวจิมาตอนฟ้าสางพอดี ข้างล่างบนเกาะนั้น ทหารอเมริกัน 5,500 นาย และทหารญี่ปุ่น 25,000 นาย ได้เสียชีวิตลงที่นี่จากการรบพุ่งกันอย่างหนักหน่วง จนกองทัพอเมริกันสามารถใช้อิโวจิมาเป็นสนามบินฉุกเฉินได้ เครื่อง enola gay เปลี่ยนเข็มไปบินเป็นทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เวลา 07.30 น. ดิก เพียร์สัน ติดตั้งชนวนระเบิดเสร็จเรียบร้อย ลิตเติ้ลบอยมีชีวิตขึ้นมาจากการถูกตั้งชนวนการทำงาน เครื่อง enola gay ค่อยๆ ไต่ระยะสูงขึ้นไปที่ 30,700 ฟุต 

เวลา 08.30 น. เครื่อง enola gay ได้รับรหัสข่าวว่าเหนือท้องฟ้าของเมืองฮิโรชิมา มีเมฆน้อยกว่า 3 ใน 10 ส่วน กัปตันทิบเบทส์แจ้งในวิทยุให้ลูกเรือรับทราบว่าเป้าหมายคือเมืองฮิโรชิมา เมื่อบินถึงชายฝั่งของหมู่เกาะญี่ปุ่นทางตอนใต้ ไม่มีเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายศัตรูขึ้นมาแม้แต่ลำเดียว เครื่อง enola gay บินผ่านชิโกกุและทะเลไอโย เมื่อเริ่มมองเห็นเมืองฮิโรชิมา เครื่องเลี้ยวไปทางทิศตะวันตก ทอม เฟเรบี้ พลทิ้งระเบิดจ้องมองผ่านกล้องศูนย์เล็งสำหรับทิ้งระเบิด โดยพยายามคำนวนทิศทาง เพื่อแก้กระแสลมบนที่พัดมาจากทิศใต้ กัปตันทิบเบทส์วิทยุแจ้งเตือนลูกเรือบนเครื่องให้ทำการใส่แว่นโพราลอยด์ที่หนาทึบเพื่อป้องกันสายตาจากแสงจ้าที่เกิดจากการระเบิด นักวิทยาศาสตร์มีการคำนวณว่า แสงจ้าที่เกิดจากการระเบิดจะเท่ากับแสงของดวงอาทิตย์ 10 ดวง พลทิ้งระเบิดเล็งไปที่สะพานรูปตัว T ซึ่งอยู่เกือบจะใจกลางเมือง 90 วินาทีก่อนการทิ้งลิตเติ้ลบอย พลทิ้งระเบิด ทอม เฟเรบี้ เข้ามารับผิดชอบในการถือคันบังคับเพื่อปรับทิศทางของเครื่องให้อยู่เหนือเป้าหมาย 

เวลา 09.15 น. แต่เป็นเวลา 08.15 น. ที่ฮิโรชิมา เครื่อง enola gay เปิดฝาครอบห้องเก็บลูกระเบิด แล้วปลดลิตเติ้ลบอยลงไป ทันใดนั้นเอง เครื่องก็เปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันไปทางขวา 155 องศา และดำลงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเร็ว นักบินไม่สามารถบินโดยมองผ่านแว่นดำมืดทึบได้ พวกเขาบางคนถอดมันออก อีก 43 วินาทีต่อมา ทิบเบทส์รู้สึกเสียวแปลบที่ฟัน จุดศูนย์กลางที่ระเบิดปรมาณูตกลงไปเกิดการระเบิดเป็นลูกไฟขนาดยักษ์ แรงจากกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดมีผลต่อความรู้สึกที่ทำให้นักบินเสียวฟันขึ้นมาทันที ระเบิดปรมาณูลิตเติ้ลบอยถูกตั้งชนวนให้ระเบิดที่ความสูง 1,860 ฟุต หรือประมาณ 580 เมตร เหนือพื้นดิน บ็อบ คาร์รอน พลปืนท้ายของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 เป็นคนแรกที่เห็นการระเบิดและตามด้วยลูกไฟขนาดยักษ์ แม้จะใส่แว่นตาป้องกันแสงที่หนาทึบ บ็อบ คาร์รอน บอกตอนหลังว่า นึกว่าตาบอดไปแล้ว เครื่อง enola gay เร่งความเร็วเพื่อออกห่างจากรัศมีของการระเบิด ขณะที่คลื่นกระแทกซึ่งเกิดจากการระเบิดพุ่งตามมาด้วยความเร็ว 1,100 ฟุตต่อวินาที เมื่อกระทบเข้ากับตัวเครื่อง ลูกเรือแจ้งว่า เหมือนกับโดนปืนต่อสู้อากาศยานที่มาระเบิดอยู่ข้างๆ เครื่อง ก้อนเมฆรูปดอกเห็ดพุ่งขึ้นท้องฟ้าสูงถึง 45,000 ฟุต และยังคงพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ลูกเรือตกใจและสะพรึงกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เมืองฮิโรชิมาที่สวยงาม บัดนี้ทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้กลุ่มควันไฟขนาดใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบๆ จุดศูนย์กลางของการระเบิดพังราบลงทั้งหมด

บริเวณจุดศูนย์กลางของการระเบิดมีอุณหภูมิสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส และในรัศมีใกล้จุดศูนย์กลางของการระเบิด 1 กิโลเมตร ความร้อนพุ่งสูงถึง 540 องศาเซลเซียส ร้อนจนเหล็กที่ใช้ทำคานสะพานข้ามแม่น้ำถึงกับละลาย คนที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของการระเบิดจะถูกเผาไหม้จนกลายเป็นเถ้าถ่านภายในพริบตา ส่วนผู้ที่อยู่ห่างออกไปก็จะเกิดอาการบาดเจ็บสาหัสจากแรงอัดหรือคลื่นกระแทก คนที่อาจรอดตายจากการระเบิดจะไม่สามารถทนต่อความร้อนที่สูงมากซึ่งพุ่งตามหลังคลื่นกระแทกเข้ามาอย่างรวดเร็ว คลื่นกระแทกนั้นมีความเร็วสูงถึง 3.2 กิโลเมตรต่อวินาที พลังงานในการทำลายล้างของลิตเติ้ลบอยทำให้มีสิ่งปลูกสร้างในเมืองฮิโรชิมาเหลือรอดอยู่แค่ 10% เท่านั้น 

การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นมากถึง 67 เมือง ซึ่งโดนทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐอเมริกาจึงได้ทิ้ง “ระเบิดปรมาณู” หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเล่นเรียกว่า “เด็กน้อย” หรือ “ลิตเติ้ลบอย” ใส่เมืองฮิโรชิมาในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ตามด้วย “ชายอ้วน” หรือ “แฟตแมน” ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ที่ทิ้งใส่เมืองนางาซากิ โดยมีการตั้วชนวนให้จุดระเบิดที่ระดับความสูงเหนือเมืองเล็กน้อย นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม

การระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมา 140,000 คน และที่นางาซากิอีก 80,000 คน นับถึงปลายปี ค.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488 จำนวนคนที่เสียชีวิตทันทีในวันที่ระเบิดลงมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่กล่าวนี้ และในระยะต่อมาก็ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บ หรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดในทั้ง 2 เมืองเป็นพลเรือน

หลังการทิ้งระเบิดลูกที่สองเป็นเวลา 6 วัน ญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 การทิ้งระเบิดทั้งสองลูกดังกล่าวมีส่วนทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องยอมรับหลักการ 3 ข้อว่าด้วยการห้ามมีอาวุธนิวเคลียร์

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 enola gay ยังคงประจำการหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเป็นเวลานานหลายปี ก่อนที่จะถูกมอบให้กับสถาบัน Smithsonian ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1949 มันถูกถอดชิ้นส่วนออก และเก็บไว้ในรัฐแมรีแลนด์ ในปี พ.ศ.2527 มีการซ่อมแซม enola gay ซึ่งกำลังเสื่อมสภาพอย่างหนัก โครงการซ่อมแซมนี้ใช้เวลาประมาณ 20 ปี ในปี พ.ศ.2538 เครื่อง B-29 enola gay มีกำหนดที่จะถูกจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการนิวเคลียร์ ท่ามกลางการโต้เถียงอย่างหนักที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติสมิธโซเนียน (NASM) ในวอชิงตัน ดี.ซี. การจัดแสดงเดิมนั้นกำหนดให้รวมกับชิ้นส่วนเศษซากจากฮิโรชิมาและนางาซากิ และเน้นการอภิปรายเกี่ยวกับการตัดสินใจใช้ระเบิด หลังจากนั้นท่ามกลางการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างดุเดือดรุนแรง แผนการจัดแสดงเดิมจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ในปี พ.ศ.2546 Enola Gay ที่ได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ ถูกนำไปจัดแสดงที่ Steven F.Udar-Hazy Center ของ NASM ในเมือง Chantilly รัฐเวอร์จิเนีย.

ข้อมูลบางส่วนจาก แทงโก นิตยสารเพื่อคนรักการบินและเทคโนโลยี กุมภาพันธ์ 2550 

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

11 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago