รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม




เป็นข่าวช็อกสำหรับแฟนๆ บันเทิงเกาหลีพอสมควร หลังจากที่ทางต้นสังกัดของนักแสดงสาว พัคโซดัม ที่โด่งดังจากบท เจสสิกา ในภาพยนตร์เรื่อง Parasite ประกาศว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) ซึ่งเธอได้เข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงของการรักษาตัวและพักฟื้นร่างกาย

เมื่อเอ่ยถึง มะเร็งต่อมไทรอยด์ หลายคนอาจไม่คุ้นหูสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับมะเร็งในส่วนอื่นๆ เช่น ผิวหนัง ทรวงอก ปอด สมอง มดลูก มากกว่า ไทยรัฐออนไลน์จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มาฝาก เพื่อไว้เช็กอาการตนเองเบื้องต้น และป้องกันตนเองในอนาคต

ต่อมไทรอยด์คืออะไร

ก่อนจะไปทำความรู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ขอพูดถึงต่อมไทรอยด์ให้เข้าใจเสียก่อน ซึ่งเป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ หน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้าง ทั้งซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึมที่อวัยวะต่างๆ

มะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร

มะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์กลายเป็นเนื้อร้าย สามารถเกิดได้กับต่อมไทรอยด์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา รวมทั้งในเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อมทั้งสองข้างด้วย อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งชนิดนี้ก็มักรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด และการวินิจฉัยก็ทำได้ง่าย หากพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100%

ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่อายุ 10-80 ปี ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 20-70 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอในวัยเด็ก หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากขึ้น โดยมะเร็งต่อมไทรอยด์มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ

  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cell) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยรองจากชนิดพาพิลลารี่ โดยเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) และเมื่อตรวจพบระดับฮอร์โมนแคลซิโทนินในเลือดสูงขึ้น ก็อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ในระยะแรกเริ่มได้
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รักษาได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเกิดความผิดปกติขึ้นที่เซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ และเซลล์เนื้อร้ายมักเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาการที่เป็นสัญญาณเตือน

ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ ก้อนเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน ในรายที่มีอาการก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มีการแพร่กระจาย เช่น

  • เสียงแหบ
  • หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด
  • กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน
  • เจ็บบริเวณลำคอ และปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวม

หากสำรวจพบว่ามีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้น หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค และรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

แนวทางการรักษา

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว)

สำหรับแนวทางการผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากการผ่าตัดแล้ว ยังมีวิธีรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยกินแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine Therapy) เพื่อช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่จากการที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด ทั้งที่บริเวณลำคอและเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมทั้งยังช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้ด้วย

ภายหลังการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างออกไปแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้อีก เมื่อครบการรักษาแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อชดเชยไทรอยด์ฮอร์โมนให้กับร่างกาย และช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีนไม่ให้ย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย เพราะยาฮอร์โมนไทรอยด์จะสามารถชะลอ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนี้ได้

การป้องกันมะเร็งต่อมไทรอยด์

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้ คือ

  • รับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือแกง น้ำปลา อาหารหรือขนมขบเคี้ยวรสเค็มในปริมาณที่เหมาะสม ไม่รับประทานน้อย หรือมากจนเกินไป
  • ถ้าพบคอพอก (คอโต) ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เสียงแหบ หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโตร่วมด้วย ควรสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ และควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

แม้ว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์จะฟังดูน่ากลัว แต่ข่าวดีคือการรักษามะเร็งชนิดนี้ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่และฟอลลิคูลาร์ ที่ผลการรักษาตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี.

อ้างอิง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์