ป่วยความดันสูงกิน…พาราเซตามอล เสี่ยง “หัวใจวาย-หลอดเลือดสมอง”




เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร รายงานผลการวิจัยเชิงทดลองในวารสาร Circulation ระบุว่า ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงที่กินยาพาราเซตามอลต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีอาการหัวใจวายและหลอดเลือดสมอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการแสดงที่เด่นชัดของคนเป็นความดันโลหิตสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่คนไข้โรคนี้ จะนิยมกินยาพาราเซตามอลเป็นประจำ

ในสกอตแลนด์มีคนราวครึ่งล้าน หรือ 1 ในทุก 10 คน ได้รับการสั่งจ่ายยาพาราเซตามอลในปี 2018 ซึ่งหากในจำนวนคนเหล่านี้มีภาวะความดันโลหิตสูงก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาอาสาสมัคร 110 คน โดย 2 ใน 3 เป็นผู้ที่รับประทานยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ นักวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งรับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 1 กรัม วันละ 4 ครั้งต่อเนื่องกัน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปริมาณที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้คนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ส่วนอาสาสมัครอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอกเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ศาสตราจารย์เจมส์ เดียร์ เภสัชกรคลินิก มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ให้ข้อมูลว่า การวิจัยทดลองแสดงให้เห็นว่า พาราเซตามอลเพิ่มความดันเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยความเสี่ยงที่สุดสำหรับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด มากกว่ายาหลอก

แม้จะต้องมีการวิจัยต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้นเพื่อยืนยันถึงความเชื่อมโยงของการกินยาพาราเซตามอลในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงกับการเกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือด แต่คณะนักวิจัยก็ยืนยันในคำแนะนำที่จะให้แพทย์พิจารณาการสั่งจ่ายยาพาราเซตามอลให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังในปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และติดตามผู้มีความดันโลหิตสูงและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด

“การรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดศีรษะและลดไข้นั้นมีความปลอดภัย แต่เราก็แนะนำให้แพทย์พิจารณาถึงความเสี่ยงและประโยชน์ในการสั่งจ่ายยาชนิดนี้ให้คนไข้ใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือน” ศาสตราจารย์เดียร์บอก

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินบะระยังบอกด้วยว่า แม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าพาราเซตามอลจะเพิ่มความดันเลือดได้อย่างไร แต่การค้นพบครั้งนี้ควรนำไปสู่การทบทวนการสั่งพาราเซตามอลในระยะยาว แม้ว่าก่อนหน้านี้ พาราเซตามอลจะถือว่าเป็นยาแก้ปวดที่ปลอดภัยกว่ายาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อการเพิ่มความดันโลหิตในคนไข้บางราย

แม้แต่ มูลนิธิหัวใจอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาดังกล่าว ยังออกมาระบุว่า หมอและผู้ป่วยจำเป็นต้องทบทวนเป็นประจำถึงความจำเป็นในการใช้ยา ไม่เว้นแม้แต่ “พาราเซตามอล” ที่เชื่อว่าค่อนข้างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายก็ตาม

ดร.ริชาร์ด ฟรานซิส จากสมาคมโรคหลอดเลือดสมองอังกฤษ บอกว่า ในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในผู้มีความดันโลหิตไม่ปกติและปกติในกรอบเวลายาวขึ้น เพื่อยืนยันความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้พาราเซตามอลในวงกว้างมากขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ดิเพนเดอร์ กิลล์ อาจารย์เภสัชวิทยาคลินิกและการรักษา มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ แห่งลอนดอน ที่ระบุว่า ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเซอร์คูเลชัน (Circulation) พบการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของความดันโลหิตอย่างมีนัยสำคัญในประชากรชาวสกอตผิวขาว แต่ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก

“มีสิ่งที่ต้องศึกษา วิจัย ค้นคว้า ทดลองอีกมาก เพราะยังไม่มีความชัดเจนอย่างเด่นชัดว่าการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตยังคงมีอยู่ต่อไปได้ด้วยการใช้พาราเซตามอลในระยะยาวหรือไม่ และไม่ทราบว่าความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พาราเซตามอลจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่” ดร.กิลล์ตั้งข้อสังเกต

ก่อนหน้านี้ผลการศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้พาราเซตามอลในระยะยาว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคหัวใจ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อมโยงข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอย่างหนึ่งหรือไม่

การศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ใน วารสารอาร์ไคฟ์ส ออฟ อินเทอร์นอล เมดิซิน ระบุว่า ผู้ชายที่กินยาแก้ปวดเกือบทั้งสัปดาห์มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้กินยาดังกล่าว ขณะที่ยาแก้ปวดเป็นยา 1 ใน 3 กลุ่มที่ใช้กันมากที่สุดในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ องค์กรเวอร์ซัส อาร์ธรีติส (Versus Arthritis) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในประเทศอังกฤษ เคยออกมาให้ความเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องมียาที่ปลอดภัยกว่าในการรักษาอาการปวด เช่นเดียวกับความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต และการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งนี้ ในสหราชอาณาจักร ความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบต่อประชากร 1 ใน ทุก 3 คน.