8 ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย ที่ทำให้คุณมีสุขภาพดีหรืออาจพังได้




ฮอร์โมนเป็นสารเคมีในร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ ทำให้ร่างกายของคนเราสามารถทำงานได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางเพศ ระดับพลังงาน สุขภาพสมอง แต่หากมีมากไป หรือน้อยไป ก็ไม่เกิดผลดีต่อร่างกาย แล้วเราจะควบคุมมันได้อย่างไร? ทำไมบางครั้งเรามักจะนอนไม่ค่อยหลับ เครียดบ่อยๆ ปวดไมเกรนบ่อย เหล่านี้เคยสังเกตไหมว่าอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนในร่างกายก็เป็นได้ มาทำความรู้จักกับ 8 ฮอร์โมน เพื่อที่เราจะรับมือได้อย่างเหมาะสม

กลุ่มฮอร์โมนแห่งความสุข

1. เอ็นโดรฟิน (Endorphin)

เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ ‘สารสุข’ เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวกเมื่ออยู่ในภาวะเครียด ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลง

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือให้ความสนใจ
  • ออกกำลังกายประมาณ 20 นาทีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นการหลั่งของเอ็นโดรฟิน
  • ทำสมาธิ เดินจงกรม ทำให้จิตใจสงบ
  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ถึงจุดสุดยอด

2. โดพามีน (Dopamine)

เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ รักใคร่ และยินดี เป็นสารที่หลั่งออกจากสมองกับเซลล์ประสาทในร่างกาย โดพามีนจะเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน เช่น การทำงานของระบบประสาทสมอง การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้ ถ้าโดพามีนในร่างกายของเราต่ำเกินไปจะทำให้มีความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้ ซึ่งนับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ยาที่รักษาโรคทางจิตเวชในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเอาโดพามีนมาใช้ในการรักษา นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโดพามีนต่ำเกินไปทำให้เป็นโรคพาร์กินสันได้ เพราะฮอร์โมนที่ลดลงทำให้ระบบการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีการสั่น และก้าวขาไม่ออก

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • ออกกำลังกาย
  • รับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนและโปรตีนอย่างเพียงพอ เพราะโดพามีนสังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนที่ชื่อ Tyrosine ซึ่งจะได้จากอาหารประเภทโปรตีนที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ฯลฯ

3. เซโรโทนิน (Serotonin)

เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมอง และหลั่งจากทางเดินอาหารที่มีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ และพฤติกรรม และการนอนหลับ ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำเกินไปจะทำให้เราหงุดหงิด นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ มีภาวะปวดศีรษะ เป็นไมเกรน หรืออาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน
    กินอาหารที่มีโปรตีน เพราะเซโรโทนินสร้างมาจากทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนเอซิตตัวหนึ่งที่สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนได้

กลุ่มฮอร์โมนความเครียด

1. คอร์ติซอล (Cortisol)

เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต และถือเป็นสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด เมื่อมีภาวะเครียด มีเหตุการณ์คับขัน มีเรื่องวิตกกังวล หรือมีความป่วยไข้ของร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟูร่างกาย คอร์ติซอลจะกระตุ้นการตอบสนองของเซลล์ในร่างกายต่อภาวะการอักเสบ ความเจ็บปวด ภาวะติดเชื้อ และกระตุ้นให้ตับสร้างน้ำตาลมากขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติในภาวะเครียด ทำให้กินเยอะขึ้น หิวบ่อยขึ้น และน้ำหนักขึ้นได้เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อรักษาระดับความดันให้ทำงานได้อย่างปกติด้วย

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

คือ พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากคอร์ติซอลจะหลั่งสูงในช่วงเช้า และจะลดลงในช่วงบ่าย ถ้าเรานอนเป็นเวลาระดับการทำงานของคอร์ติซอลจะเพิ่มและลดตามปกติ แต่สำหรับคนที่นอนไม่พอ หรือนอนไม่เป็นเวลา จะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่ผิดปกติและผิดช่วงเวลา ทำให้ร่างกายไม่สดชื่น และนอนไม่หลับ

2. อะดรีนาลีน (Adrenaline)

อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ อิพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต เป็นสารแห่งความโกรธ และเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันตัว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนนี้เพื่อให้มีภาวะเตรียมพร้อมให้ร่างกายเข้าสู่การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินและการใช้พลังงาน ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานอย่างเต็มที่ หัวใจบีบตัวมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น และทำในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้ เช่น เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จะรีบวิ่งเข้าไปยกของหนักในบ้านออกมาได้ โดยปกติแล้วอะดรีนาลีนจะหลั่งช่วงที่เราตื่นเต้น หรือมีภาวะฉุกเฉิน แล้วจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าหลั่งมากผิดปกติอาจเกิดจากเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ควบคุมได้ยาก

กลุ่มฮอร์โมนเพศ

1. เทสโทสเตอโรน (Testosterone)

ฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสังเคราะห์ ฉะนั้นร่างกายจึงต้องมีไขมันเพื่อสังเคราะห์เป็นฮอร์โมนเพศได้ ฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็กจนโตลักษณะเป็นผู้ชาย มีกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น มีหนวด เครา ขน เสียงแตก และมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ ถ้าหากฮอร์โมนทำงานปกติ ร่างกายก็จะไม่มีปัญหา และมีการพัฒนาไปตามวัย แต่ถ้าหากมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ ในเด็กจะมีการพัฒนาเป็นเพศชายที่ไม่สมบูรณ์ แต่หากลดลงตามวัย เริ่มลดลงเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป หากเกิดลดลงก่อนวัยอันควรจะมีผลกับกล้ามเนื้อ มวลของกระดูก มีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อจะลีบเล็กลง และกระดูกบางง่าย มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และการมีเพศสัมพันธ์

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินอาหารกลุ่มที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย เช่น Zinc หรือแร่สังกะสี เช่น หอยนางรม

2. เอสโตรเจน (Estrogen)

คือ ฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากรังไข่ และทำให้ลักษณะร่างกายของผู้หญิงมีการเติบโต มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น มีเต้านม สะโพกผาย มีผิวดีขึ้น เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ และช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ถ้าหากเอสโตรเจนลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนในช่วงวัย 45-50 ปี มีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้น เพราะมวลกระดูกลดลง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีภาวะของการหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบตามตัว

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • กินอาหารที่มีเอสโตรเจนสูง เช่น น้ำมะพร้าว ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง แต่ก็ไม่สามารถกินในปริมาณมากเพื่อทดแทนฮอร์โมนได้

3. โปรเจสเตอโรน (Progesterone)

เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์ หรือมีรอบเดือน เตรียมพร้อมที่จะให้ไข่ที่ได้รับจากสเปิร์มแล้วมาฝังตัว โปรเจสเตอโรนสามารถหลั่งได้จากรังไข่และต่อมหมวกไต ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ในช่วงที่มีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาขึ้นเตรียมพร้อมกับการฝังตัวของตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนระดับโปรเจสเตอโรนจะลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ถ้ามีการตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะยังคงระดับสูง รักษาไม่ให้มดลูกบีบตัวและยังสูงตลอดการตั้งครรภ์

ฮอร์โมนในร่างกายที่กล่าวมา คือสารธรรมชาติที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง สามารถกระตุ้นสร้างฮอร์โมนและรักษาสมดุลของฮอร์โมนได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ และการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะฮอร์โมนส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และสังเคราะห์มาจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป เราจึงควรกินให้ครบทั้ง 3 มื้อ และไม่ควรอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง หากทำเป็นประจำก็สามารถรักษาระดับสมดุลของฮอร์โมนไว้ได้ และช่วยให้ห่างไกลจากโรค

บทความโดย : ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 2