10 สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง ซื้อหาง่าย มีอยู่ใกล้ตัว




สมุนไพรลดความดันโลหิตสูงที่นิยมกันในปัจจุบัน มีทั้งพืชที่ยืนยันแล้วว่ามีตัวยาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้จริง และบางชนิดกำลังวิจัยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ดีสมุนไพรใกล้ตัวเหล่านี้ หากรับประทานในระดับที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้ป่วยได้

10 สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง อยู่ใกล้ตัวนี่เอง

1. กระเทียม
กระเทียม ที่จำหน่ายทั่วไปในตลาด มีทั้งกระเทียมจีนหัวใหญ่ และกระเทียมหัวเล็ก กระเทียมหัวเล็กจะมีสาร Allicin และ Ajoene ที่มีส่วนช่วยลดไขมันในหลอดเลือด ยกเว้นผู้ป่วยที่ใช้ยาลดอาการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรรับประทานกระเทียมมาก ให้ระมัดระวังมากขึ้น ปริมาณกระเทียมในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประทานยาลดการแข็งตัวของเลือด แนะนำกระเทียมสด 5 กรัม (หรือ 1 ช้อนชา) ต่อวัน

2. โกโก้
แม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าโกโก้มีฤทธิ์รักษาความดันโลหิตสูงในระยะยาว แต่โกโก้มีสารที่ชื่อว่า Flavonoid ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตในระยะสั้น มีข้อควรระวังในการใช้โกโก้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงว่ามีผลข้างเคียง เช่น กระวนกระวายใจ ปัสสาวะบ่อย ใจสั่น และไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

3. กะเพรา
กะเพรา เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีคุณค่าทางอาหารหลายชนิด ได้แก่ วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็ก เหมาะกับการนำมาประกอบอาหาร แต่ไม่เหมาะกินสดๆ เพราะมีสาร Estragole อันตรายต่อตับ

4. กระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดง เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รับประทานเพื่อขับปัสสาวะ ใช้ดอกกระเจี๊ยบแดงต้มเป็นน้ำดื่ม ลดความดันโลหิต มีข้อควรระวังในผู้ป่วยโรคไต

5. ตะไคร้
ตะไคร้ มีฤทธิ์ขับลม เชื่อว่าลดความดันโลหิตได้ กลิ่นของตะไคร้ช่วยให้ผ่อนคลาย หรือนำมาใช้ต้มน้ำตะไคร้กินช่วยขับลมได้ 

6. ขิง
ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ใช้ฝานต้มรับประทานเป็นน้ำขิง มีข้อควรระวังเช่นเดียวกับการรับประทานกระเทียม

7. ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่าย เป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ลดความดัน ต้านการอักเสบ ลดบวม แนะนำให้รับประทาน 4 ต้นต่อวัน

8. ใบบัวบก
ใบบัวบก เป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น บำรุงหลอดเลือด ลดอาการอักเสบ และบำรุงการไหลเวียนโลหิต วิธีรับประทานใช้ใบคั้นสดเป็นน้ำดื่ม หรือใช้รับประทาน 4-5 ใบต่อมื้ออาหาร

9. มะรุม
ใบมะรุม และราก ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอาการอักเสบ และต้านมะเร็ง โดยนำใบและรากมาตำ บีบคั้นน้ำรับประทานผสมน้ำผึ้ง ทานวันละ 2 ครั้ง ช่วยลดความดันโลหิต แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

10. อบเชย
อบเชย มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ โดยใช้อบเชยเป็นแท่งมาบด ชงกับน้ำร้อนปริมาณ 1 แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่เป็นไข้ตัวร้อน

การใช้สมุนไพรในโรคความดันโลหิตสูงนั้น ไม่สามารถทดแทนการรักษาจากแพทย์ได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ และรับยาที่รักษาตรงกับลักษณะโรคและร่างกายของคุณ.