โรคไข้หวัดใหญ่ ในสถานการณ์โควิด-19




ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 คือทางรอด
เพราะช่วยลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อร่วมกัน

‘ไวรัสทางเดินหายใจ’ อีกชนิดที่ควรเฝ้าระวังและให้ความสำคัญ เพราะมันไม่ได้หายไปไหนและพร้อมที่จะกลับมาระบาดอีกครั้ง นั่นก็คือ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน คือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตามยังคงพบผู้ติดเชื้อในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 4 เท่า ซึ่งเด็กก็มักจะเป็นผู้นำเชื้อมาสู่ผู้ใหญ่อีกต่อหนึ่งด้วย

ความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ที่สูงขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบัน เริ่มมีรายงานจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่พบว่า เกิดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่สูงขึ้น รวมถึงในสหรัฐอเมริกาที่พบการระบาดในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีรายงานการวิจัยจาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ที่คาดการณ์ว่า ฤดูไข้หวัดใหญ่ปี 2021-2022 มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการป่วยในฤดูกาลก่อนการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เราสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เมื่อมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 20-50% จากปีก่อนๆ

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ยังคงพบในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปีมากที่สุด ถึงแม้จะดูว่าตัวเลขผู้ป่วยยังไม่มากนัก แต่แพทย์ต่างก็มีความกังวลว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่กำลังเข้าสู่การระบาดในฤดูฝน คือเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้มากขึ้นและมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมนานขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังตรงกับช่วงเวลาที่โรงเรียนทั่วประเทศเปิดเทอมภาคการศึกษาใหม่ ทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมกัน ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน (หรือที่เรียกว่า Co-Infection หรือ Flurona) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรงมากขึ้น

สถิติการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ผู้ใหญ่ และสตรีมีครรภ์

จากสถิติที่ผ่านมา เด็กจะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่ได้ถึง 4 เท่า และในกลุ่มสตรีมีครรภ์ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีโอกาสต้องนอนในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 4 เท่า และหากเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรง สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาจรุนแรงถึงขั้นต้องยุติการตั้งครรภ์ หรือเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ฉะนั้นคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์จึงควรป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อส่งต่อความปลอดภัยให้ทารกแรกเกิดได้ตั้งแต่วันแรกที่คลอด เพราะทารกจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้จนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน แต่ภูมิคุ้มกันจากแม่จะส่งต่อถึงลูกให้ได้รับการปกป้องอาการรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ได้

นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคอ้วน ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อร่วมกันในยุคโควิด-19 โดยไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ก็ควรเข้ารับบริการฉีดทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นทางออกที่มีความคุ้มค่า

โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้มีการยอมรับถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจากทั่วโลกและมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน คุณประโยชน์และประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ ลดการแพร่เชื้อโรค รวมถึงลดการรักษาตัวในห้องฉุกเฉิน และผลโดยรวมยังพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย

ความสำคัญของวัคซีนช่วยลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ และลดการแพร่กระจายโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ให้เป็นการระบาดใหญ่ได้
จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ร่วมกัน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคร่วมกันถึง 5.92 เท่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

จากการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดได้ และการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้

ทั้งยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกาและบราซิล ที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่งผลในเชิงบวกต่อการเจ็บป่วยของโควิด-19 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 10% ด้วยเช่นกัน
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี และล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) และในอีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ว่าสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนโควิด-19 ในวันเดียวได้ โดยหากใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและยังไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ขอให้รีบรับวัคซีนให้เร็วที่สุด.

บทความโดย : ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท 2