โรคยอดฮิตของระบบทางเดินอาหารที่ควรรู้จัก (ตอน 2)




หลังจากที่ได้รู้จักโรคริดสีดวงทวาร กันไปแล้ว ศุกร์สุขภาพ สัปดาห์นี้ ยังมีเรื่องราวน่ารู้ของ “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” มาฝากกัน

“โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนไทย รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่มีกากใยน้อย ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่กิน นอกจากนี้ พันธุกรรมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน แต่อาจตรวจพบได้บ้างเป็นบางครั้ง

อาการของคนไข้แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากลำไส้เป็นอวัยวะที่มีความยาวมาก อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้บริเวณด้านในฝั่งขวา มักจะมาด้วยอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือท้องผูก ท้องอืด หากก้อนมีขนาดใหญ่บางครั้งจะคลำเจอได้ ส่วนถ้าเป็นมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย หรือส่วนปลาย คนไข้ก็จะมีอาการถ่ายอุจจาระยาก มีภาวะลำไส้อุดตัน หรือมีเลือดออกปลายทางทวารหนัก เป็นต้น

การวินิจฉัย

การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่มีสองวัตถุประสงค์หลัก คือ ตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็ง ใช้สำหรับคนปกติที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด โดยสามารถทำได้หลายวิธี และสอง เพื่อการวินิจฉัยโรคในกรณีที่คนไข้มีอาการผิดปกติ และสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งการตรวจโดยมาตรฐานกรณีนี้คือการส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ สำหรับเพื่อคัดกรองมะเร็งนั้นทำได้หลายวิธี ดังนี้

การตรวจจากอุจจาระ ซึ่งสามารถใช้อุจจาระตรวจได้หลายแบบและหลายวิธี เช่น หาปริมาณเลือดเล็กน้อยในอุจจาระ หาสารพันธุกรรมมะเร็งจากอุจจาระเป็นต้น โดยการนำอุจจาระส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ซึ่งปัจจุบันเป็นการตรวจที่ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ และยังสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งพิสูจน์ได้ในขณะทำการส่องกล้องตรวจ

การตรวจอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) การสวนแป้งเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ซึ่งหลังจากการตรวจชิ้นเนื้อแล้วถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็จะต้องตรวจประเมินระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับระยะและตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

การรักษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดรักษามีสองรูปแบบหลักคือ หนึ่งผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการจากภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการอุดตันของลำไส้จากก้อนมะเร็ง มักใช้ในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปเยอะแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สองผ่าตัดเพื่อให้หายจากโรคมะเร็ง โดยที่จะต้องผ่าตัดมะเร็งออกได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นแล้วก็ตาม ซึ่งการผ่าตัดจะรวมถึงการตัดอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายไปด้วย โดยอาจจะต้องทำการผ่าตัดหลายครั้ง ปัจจุบันการผ่าตัดในประเทศไทยก็มีการพัฒนาไปไกลมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง แบบแผลเล็ก ซึ่งทำให้คนไข้ฟื้นตัวในระยะยาวได้ดีกว่า และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ดีกว่า เช่น ภาวะลำไส้อุดตันจากพังผืดของแผลผ่าตัดใหญ่ การติดเชื้อจากแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เป็นต้น ที่สำคัญผลของการรักษาเท่ากับการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ปกติ

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาดีพอๆ กับการผ่าตัดส่องกล้อง แผลมีขนาดเล็ก คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว แต่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่ามาก ซึ่งปัจจุบันก็มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหลายโรงพยาบาล อาทิ ศิริราช สงขลา เชียงใหม่ ราชวิถี รวมถึงที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก็สามารถทำได้

2. การใช้ยา มีทั้งการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยการทำลายเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และยามุ่งเป้า เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารอื่นที่สามารถทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ แต่ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ และมีราคาแพงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้
3. การใช้รังสีรักษา โดยการฉายรังสีเพื่อทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจจะฉายรังสีก่อนเพื่อลดขนาดของมะเร็งลง หรือฉายหลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อลดการเป็นซ้ำ

การป้องกัน

1. รับประทานผักผลไม้ให้มากๆ เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารแปรรูปต่างๆ

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

3. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

4. ในรายที่ไม่มีอาการ แนะนำให้ตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคน ยกเว้นผู้ที่มีญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรตรวจให้เร็วขึ้น

การตรวจคัดกรองก็มีหลายประเภท ซึ่งหากตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาได้เร็ว และโอกาสหายขาดก็มีสูง

“โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน เพราะเกิดจากอาหารการกิน ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้ จึงเป็นอีกโรคที่ทุกคนควรรู้จักและให้ความใส่ใจ เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองและคนในครอบครัว

@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล