เมื่อหนีฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ ควรดูแลตัวเองยังไง…ให้สุขภาพไม่พัง!




ปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว อย่างฝุ่น PM 2.5 ยังไม่หายไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิต และบั่นทอนสุขภาพของใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะกระตุ้นอาการภูมิแพ้อากาศ คัดจมูกไปจนปวดไมเกรน หรือผดผื่นคันเพราะปัญหาภูมิแพ้ผิวหนัง แล้วแบบนี้เราจะมีวิธีต่อสู่กับฝุ่น PM 2.5 ยังไง เพื่อไม่ให้สุขภาพพังซะก่อน มาฟังคำแนะนำจาก นพ.จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก รพ.พญาไท 2

ปกติแล้วเราสามารถพบฝุ่น PM 2.5 ได้จากที่ไหน

“ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพ เราสามารถพบฝุ่น PM 2.5 ได้ ในบรรยากาศทั่วไป โดยสามารถพบได้ทั้งภายนอกอาคารและภายในอาคาร โดยภายนอกอาคารพบได้จากการเผาไหม้ทางการเกษตร การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลทั้งในยานพาหนะและอุตสาหกรรม ในอาคารอาจเกิดจากการทำอาหารที่มีการเผาไหม้ เช่น ปิ้งย่างด้วยเตาถ่าน แต่ถึงแม้จะไม่มีการกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ในอาคาร ด้วยขนาดของฝุ่น PM 2.5 ที่เล็กมาก จากงานวิจัยพบว่าสามารถลอดผ่านตามช่องประตู หน้าต่าง เข้ามาภายในอาคารได้”

ปัจจัยที่ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น มีอะไรบ้าง

1. สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในฤดูหนาว : สภาพอากาศโดยทั่วไป พื้นโลกจะร้อนกว่าสภาพอากาศด้านบน ดังนั้นอากาศร้อนจะถูกยกตัวขึ้น และลมจะพัดมาแทนที่ก๊าซมลพิษ ทำให้มลพิษถูกพัดกระจายออกไป แต่ในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิที่พื้นดินจะต่ำ โดยสภาพอากาศด้านบนยังมีแสงอาทิตย์แผ่ลงมาเท่าเดิม ดังนั้นความหนาแน่นของอากาศจะมีมากกว่าด้านบน ทำให้อากาศไม่สามารถลอยขึ้นไปได้อย่างเต็มที่ ร่วมกับช่วงเวลากลางคืนอุณหภูมิลดลงทำให้ความชื้นกลั่นตัวเป็นหมอกมากดฝุ่นควันในอากาศไม่ให้ลอยขึ้นอีก ทำให้สภาพอากาศที่มีมลพิษนิ่งไม่ขยับในช่วงฤดูนี้ เรียกว่า “ลักษณะอากาศปิด”

2. มีการเพิ่มการกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 : ในช่วงหน้าหนาวจะมีการเผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เผาขยะ โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศรอบข้าง ร่วมกับการผลิตฝุ่น PM 2.5 ในเมืองต่อเนื่องจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะรถ หรือเครื่องยนต์ที่ไม่ได้มีการตรวจเช็กสม่ำเสมอ

ระดับความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 เท่าไรจึงผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ที่ระดับความเข้มข้นของดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) 51 ถึง 100 : คนไข้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอด โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ อาจเริ่มมีอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม หายใจเหนื่อยได้ หากอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน
  • ที่ระดับความเข้มข้นของดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) 101 ถึง 150 : คนไข้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอด โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ จะมีอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม หายใจหอบเหนื่อยได้ คนไข้กลุ่มนี้ควรเลี่ยงการออกไปในที่กลางแจ้ง
  • ที่ระดับความเข้มข้นของดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) 151 ขึ้นไป : คนไข้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอด โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ จะมีอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม หายใจหอบเหนื่อยได้ คนไข้กลุ่มนี้ไม่ควรออกไปในที่กลางแจ้ง ส่วนบุคคลกลุ่มอื่นควรเลี่ยงการออกไปในที่กลางแจ้ง อาจทำให้มีอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก จาม คัดจมูก หรือผิวหนังอักเสบ ผื่นคันได้

อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 สังเกตได้อย่างไร

ในบุคคลทั่วไปอาจมีอาการระคายเคืองโพรงจมูก มีจาม น้ำมูกใส ไอ หรือหายใจไม่สะดวก อาจมีตาแดง คันตา น้ำตาไหลผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ โรคหอบหืด หรือโรคปอดอื่นๆ จะพบว่ามีอาการกำเริบของโรคตั้งแต่คัดจมูกมาก มีน้ำมูกไหล ไอ หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด บางรายอาจรุนแรงถึงระบบหายใจล้มเหลวได้ กลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการกำเริบของโรคคันมาก เกิดผื่นแดงตามผิวหนังคุมโรคไม่ได้

เคล็ด(ไม่)ลับ! ดูแลตัวเองยังไงในช่วงที่อากาศหนาแน่นจากฝุ่น PM 2.5

พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มากๆ รับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้พิจารณามาออกกำลังกายภายในอาคารแทน ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ป้องกันการเล็ดลอดของฝุ่นเข้ามาในอาคาร ในผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น PM 2.5 ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้

อุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5

แนะนำใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA (High efficiency particulate air) filter เพื่อช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคาร และควรพกหน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานติดตัว ศึกษาวิธีสวมใส่ที่ถูกต้อง และใช้ทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องออกภายนอกอาคาร

ในผู้ป่วยกลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด และหลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร

บทความโดย : นพ.จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลพญาไท 2

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :