เปิดที่มา “วันสื่อสารแห่งชาติ” 2565 มีจุดเริ่มต้นอย่างไร




วันสื่อสารแห่งชาติ 2565 คืออะไร มีที่มาอย่างไร เส้นทางการสื่อสารของไทยเริ่มต้นจากจุดไหน วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาฝาก

วันสื่อสารแห่งชาติ คืออะไร?

วันสื่อสารแห่งชาติ 2565 คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 และได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ 

ที่มาวันสื่อสาร 4 สิงหาคม

เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสาร การติดต่อต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนยังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาระบบการสื่อสารด้วยเช่นกัน

คณะรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารดังกล่าว และมีมติออกใหม่ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ว่าด้วยเรื่องกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสื่อสารแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจุดเริ่มต้นของการสื่อสารของไทย

กิจกรรมในวันสื่อสารแห่งชาติ 2565

กิจกรรมในวันสื่อสารแห่งชาติจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกๆ ปี ดังนี้
1. พิธีถวายเครื่องสักการะเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
2. พิธีกล่าวคำปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
3. การจัดทำดวงตราไปรษณียากรเพื่อเป็นที่ระลึกวันสื่อสารแห่งชาติ 2565
4. การจัดนิทรรศการ เพื่อมอบข้อมูล ความรู้ และรายละเอียดต่างๆ

นิทรรศการวันสื่อสารแห่งชาติ 4 สิงหาคม นำเสนออะไรบ้าง?

ตั้งแต่พ.ศ. 2546 ที่มีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมเป็นวันสื่อสารแห่งชาติ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดนิทรรศการ ทั้งนี้หัวข้อการจัดนิทรรศการจะแตกต่างกันออกไป เช่น
– วันสื่อสารแห่งชาติ 2528 จัดนิทรรศการการสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ
– วันสื่อสารแห่งชาติ 2530 จัดนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร
– วันสื่อสารแห่งชาติ 2535 จัดนิทรรศการการสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า
– วันสื่อสารแห่งชาติ 2538 จัดนิทรรศการการสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ

จุดเริ่มต้นการสื่อสารของไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ยุคเริ่มต้น
– เดิมทีสังคมไทยเน้นการติดต่อสื่อสารด้วยการพูดคุยเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “ปากต่อปาก” จากนั้นจึงเริ่มมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งเสียงหรือส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรับรู้ ตลอดจนการใช้สัตว์และคนเดินทางไปส่งข้อมูล
– พ.ศ. 2400 ชนชั้นสูงของไทยเริ่มมีการใช้โทรเลขในการติดต่อสื่อสาร 
– พ.ศ. 2404 คณะราชทูตปรัสเซียได้เดินทางมาเข้าเฝ้า พร้อมนำเทเลกราฟหรือโทรเลข รวมถึงเครื่องบรรณาธิการต่างๆ มาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 4 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ทำให้สังคมไทยรู้จักโทรเลขเป็นวงกว้างมากขึ้น
– พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากการตกเป็นทาสอาณานิคมและสร้างเส้นทางโทรเลขสายแรก ตลอดจนขยายออกสู่ภูมิภาคพร้อมๆ กับเส้นทางรถไฟ

ยุคอะนาล็อก
– พ.ศ. 2426 เปิดให้คนไทยทุกชนชั้นใช้โทรเลขได้ ทำให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
– พ.ศ. 2426 มีการสถาปนากรมโทรเลขและไปรษณีย์ขึ้นอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมเป็นวันสื่อสารแห่งชาติ
– พ.ศ. 2426 ได้มีการเปิดให้คนเช่าใช้โทรศัพท์ ระบบแม็กนีโต ก่อนจะพัฒนามาเป็นโทรศัพท์ระบบไฟกลาง ตลอดจนวิทยุโทรศัพท์ในอีก 48 ปีต่อมา
– พ.ศ. 2441 ได้มีการรวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนที่ทำการ เพื่อให้สะดวกและติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
– พ.ศ. 2447 ได้มีการนำระบบวิทยุโทรเลขมาใช้งานเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นพื้นฐานการสื่อสารแบบไร้สายในยุคเวลาต่อมา
– พ.ศ. 2480 โทรศัพท์แบบอัตโนมัติเริ่มเข้ามาสู่สังคมไทยเป็นช่วงแรก
– พ.ศ. 2505 มีการให้บริการเทเล็กซ์ในกรุงเทพฯ สำหรับติดต่อสื่อสารกันได้เอง ไม่นานนักก็ได้มีเครื่องโทรสารเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการสื่อสารด้วยเช่นกัน

– พ.ศ. 2509 ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ ทำให้มีการถ่ายภาพผ่านดาวเทียมอวกาศครั้งแรก
– พ.ศ. 2514 มีการใช้ชุมสายโทรศัพท์ครั้งแรก เมื่อได้รับความนิยมเพิ่มสูง ก็มีการพัฒนาระบบสื่อสารเรื่อยมา
– พ.ศ. 2520 ก่อตั้งกสท.ทำหน้าที่ดูแลและให้บริการกิจการการติดต่อสื่อสารต่างๆ ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ
ยุคดิจิทัล
– พ.ศ. 2546 มีการก่อตั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และแยกไปรษณีย์ออก เพื่อการควบคุมดูแลที่สะดวก
– มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพิ่มความสะดวกในการสื่อสาร
– มีการรับส่งสัญญาณเสียง ภาพ และข้อมูลอย่างสะดวก สามารถสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมทั้งมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่รองรับการทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นวันสื่อสารแห่งชาตินั้นมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงมีการจัดงานและจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสื่อสารไทยต่อคนรุ่นใหม่

ที่มา : ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานกสทช., ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสยาม และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ