เปิดตำรับข้าวแช่ไทยมอญ ข้าวแช่เมืองมอญ ความหมายมากกว่าเมนูคลายร้อน




“ข้าวแช่” เป็นสำรับอาหารที่ให้ความชุ่มชื่นใจในยามร้อนระอุเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นเมนูคลายร้อนที่หลายคนนึกถึง และที่มาของเมนูข้าวแช่นั้นมีความหมายน่าสนใจ ที่ทำให้อิ่มเอมมากยิ่งขึ้นอีก

ที่มาของเมนูข้าวแช่ในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างและเสน่ห์ที่น่าลิ้มลอง สืบสาวได้ว่าต้นตำรับดั้งเดิมนั้นเป็นอาหารประจำเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ มีตำนานและประเพณีผูกโยงกับการทำบุญสุนทานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวมอญ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจากตำนานสงกรานต์ของชาวมอญว่า ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีผู้หนึ่งทุกข์ร้อนจากเหตุที่ไม่มีบุตรสืบทอด แม้จะเพียรบวงสรวงบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็หาสมความปรารถนาไม่

ครั้นถึงวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีพร้อมบริวารจึงนำข้าวสารเมล็ดงามไปล้างน้ำ 7 ครั้ง แล้วนำมาหุงถวายรุกขเทวดาประจำต้นไทร ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้บุตร รุกขเทวดาจึงไปทูลขอต่อพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้เทพบุตรจุติมาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีสมดังปรารถนา ชาวมอญจึงเชื่อถือสืบมาว่าหากได้ทำพิธีบูชาเทวดาในเทศกาลสงกรานต์ และตั้งจิตอธิษฐานสิ่งใดจะสมดังปรารถนาดังเช่นเศรษฐีคนดังกล่าว โดยข้าวแช่ต้นตำรับของชาวมอญนี้ยังคงปรุงเพื่อบูชาเทพยา และเป็นอาหารงานบุญขึ้นปีใหม่ที่ปรุงเพื่อถวายพระสงฆ์ และเลี้ยงคนในชุมชนด้วย

สำหรับชื่อเรียกของ ข้าวแช่ นี้ ชาวมอญในไทยเรียกข้าวแช่ว่า “เปิงซังกราน” หรือ “ข้าวสงกรานต์” ส่วนชาวมอญในรัฐมอญเรียกว่า “เปิงด้าจก์” หรือ “ข้าวน้ำ” ซึ่ง เปิง แปลว่า ข้าว ด้าจ์ก แปลว่า น้ำ หรือเรียกว่า เปิงซังกราน และคนพม่าเรียกว่า “ตะจังทะมีง” แปลว่า “ข้าวสงกรานต์” เช่นกัน

วันนี้จะขอแนะนำข้าวแช่ หรือข้าวสงกรานต์ของชาวมอญที่น่าสนใจสักสองสำรับ คือข้าวแช่ไทยมอญ ที่จังหวัดราชบุรี ในไทย และข้าวแช่เมืองมอญ หรือรัฐมอญ ในพม่า

ข้าวแช่ไทยมอญ ราชบุรี

ข้าวแช่สำรับนี้ เป็นข้าวแช่ชาวมอญนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่นำมาร่วมงานบุญในช่วงสงกรานต์กับ “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน” ที่อำเภอโพธาราม ซึ่งจัดมาเป็นเวลากว่าสิบปีติดต่อกัน และได้มีโอกาสไปลิ้มรสอยู่หลายครั้ง ก่อนที่สถานการณ์การระบาดของโควิดทำให้การจัดงานประจำปีต้องขาดช่วงไป

องค์ประกอบและเครื่องเคียงของข้าวแช่แห่งนครชุมน์นี้ ประกอบไปด้วย ปลาป่นผัดหวาน หรือภาษามอญเรียกว่า ก๊ะเจีย หัวไชโป๊ผัดหวาน หรือดั๊บร่า และยำมะม่วง หรืออะว้อดเกริ๊ก ซึ่งเครื่องเคียงข้าวแช่ตำรับชาวมอญที่เต็มสำรับยังมีมากกว่านี้ บางถิ่นมี 5-7 ชนิด บางถิ่นมีถึง 10-12 ชนิด แตกต่างกันไปตามความถนัด และความชอบ แต่หลักๆ ทั่วไปจะมี หมูผัดหวาน หรือซุนเจีย ยำขนุนอ่อน หรืออะว้อดอะเนาะ และลูกกะปิชุบไข่ทอด หรือฮะร็อคฮะแหม่งคะนา เป็นต้น

ข้าวแช่เมืองมอญ พม่า เชื่อมโยงความสัมพันธ์

ส่วนข้าวแช่เมืองมอญ ประเทศพม่าสำรับนี้ มาจากตลาดเมืองเมาะลำไยน์ รัฐมอญ เสิร์ฟด้วย “ข้าวน้ำ” ชามโต ซึ่งมีกลิ่นควันเทียนบางๆ กับเครื่องเคียงที่ใส่รวมมาในถ้วยใบเล็ก โดยปกติจะมี ปลาผัดแห้ง ยำมะม่วง ยำผักดองต่างๆ รวมถึงพริกแห้งทอด

เพื่อนชาวพม่าที่หลงใหลข้าวแช่ของชาวมอญเล่าว่า ข้าวน้ำ หรือ ข้าวสงกรานต์ เป็นอาหารจานโปรดคนมอญรวมทั้งคนพม่าด้วย ชาวมอญเป็นพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา เธอเล่าว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญในประเทศพม่าจะไปวัดทำบุญและถวายเพลพระด้วยข้าวแช่ และยังทำเลี้ยงคนในชุมชนของตัวเองด้วย ถือเป็นอาหารคลายร้อนที่กินกันทั้งหมู่บ้าน และแสดงถึงความความสัมพันธ์ในระบบชุมชนและเครือญาติของชาวมอญ ซึ่งเรายังคงได้เห็นความใจบุญสุนทานและความสัมพันธ์ของชุมชนมอญในประเทศไทยในหลายๆ ที่ผ่านสำรับข้าวแช่นี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนข้าวแช่ตำรับชาววังของไทยที่ขายกันแพร่หลาย ถูกประยุกต์เป็นเครื่องเสวยในรั้วในวังโดยสตรีชาวมอญที่รับราชการเป็นข้าหลวงฝ่ายใน ก่อนที่จะขยายออกประตูวังมาสู่เรือนชาวบ้านในราวสมัยรัชกาลที่ 5 จนกลายเป็นเมนูคลายร้อนที่ได้รับความนิยมและค่อนข้างมีสนนราคาในปัจจุบัน

เรื่องเล่าของเมนูอาหาร และเส้นทางที่มาถึงผู้คนนั้น คือเสน่ห์ของความอิ่มเอม และไม่ว่าจะเป็นตำรับข้าวแช่ชาวมอญ ชาววัง หรือชาวบ้าน ข้าวแช่ และเครื่องเคียงต่างๆ ก็เป็นสำรับที่ปรุงด้วยความพิถีพิถันละเมียดละไม ตามวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันออกไป