เปรียบเทียบโอมิครอน 3 สายพันธุ์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร




นับตั้งแต่ที่โควิดเริ่มมีการระบาดครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ออกไปมากมาย และสายพันธุ์ล่าสุดคือ “โอมิครอน” ที่ได้มีการค้นพบและเริ่มระบาดครั้งแรกเมื่อปลายปี 2021 ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาสายพันธุ์ย่อยเพิ่มขึ้นรวมเป็น 3 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เรารวมข้อมูลมาให้เปรียบเทียบดังนี้

ภาพกราฟิกโดย Jutaphun Sooksamphun

โอมิครอน สายพันธุ์ B.1.1.529 

ค้นพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่ากังวล มีรหัสไวรัสเป็น B.1.1.529 หรือ BA.1 ปัจจุบันมีการระบาดลามไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะสามารถแพร่เชื้อและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังมีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีนอีกด้วย คนที่เคยติดเชื้อ โควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

อย่างไรก็ตามผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วมักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อยหรือแทบจะไม่แสดงอาการเลย แต่อาจพบอาการเหล่านี้ได้

อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • ไม่ค่อยมีไข้
  • จมูกยังได้กลิ่น
  • ลิ้นยังสามารถรับรสได้
  • อาจมีอาการไอเล็กน้อย
  • ปอดอักเสบ
  • เจ็บคอ
  • ไอแห้ง
  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน

โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2

ค้นพบเมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลล่าสุด (22 ก.พ. 65) ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แม้จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่พบความรุนแรงที่แตกต่างหรือมากไปกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่อย่างใด

ข้อแตกต่างจากโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1

สิ่งที่ทำให้โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 แตกต่างจาก โอมิครอน สายพันธุ์ B.1 คือ สามารถแพร่เชื้อในบ้านได้เร็วกว่าเดิมถึง 10% ซึ่งหมายความว่าเชื้อโควิดที่ระบาดหนักจนเป็นสายพันธุ์หลักในช่วงนี้จะเป็น โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 นั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบว่า โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 ยังดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งยังพบว่าใช้ยา “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ที่เคยรักษาผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 ได้ จะใช้ไม่ค่อยได้ผลใน โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 แต่ยังไม่กระทบกับวิธีรักษา เนื่องจากโอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีอื่นจึงยังได้ผลเหมือนเดิม

โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.2

ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ฮ่องกง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของโอมิครอนเดิมที่ระบาดอย่างหนักในฮ่องกงจนพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์ที่หลายคนกังวล เพราะมีผู้เสียชีวิตในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นจนมีสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่พบในอินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา และสิงคโปร์แล้ว

ข้อแตกต่างจากโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2

ความแตกต่างจากโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 และสายพันธุ์ BA.2.2 คือล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการหาข้อมูลและคำนวณพบว่าสายพันธุ์ BA.2.2 มีการระบาดเพิ่มขึ้นกว่าทุกสายพันธุ์ประมาณ 35% และที่น่าสังเกตคืออัตราผู้ติดเชื้อ “โอมิครอน” รายใหม่ในทุกประเทศจะมีจำนวนมากขึ้นแต่อัตราผู้เสียชีวิตจะน้อย ขณะที่ในฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตมากสูงที่สุดในโลก

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วย โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.2 ในไทย และอาการของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ทุกคนก็ไม่ควรประมาท เพราะถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 3 หรือ 4 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อโควิด โอมิครอนทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ได้อยู่ ดังนั้นการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดนอกจากการฉีดวัคซีนแล้วก็คือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่นอกที่พักอาศัยหรือในที่มีผู้คนแออัด พยายามหลีกเลี่ยงที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์จนเป็นนิสัย เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากเชื้อโควิดให้มากที่สุด

อ้างอิงข้อมูล: องค์การอนามัยโลก (WHO), กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข