“เด็กเล็ก-โรงเรียน-โควิด” ปีการศึกษา 2564 – 2565 กับอนาคตที่ยังต้องลุ้น




แม้จะมีข่าวดีว่าเร็วๆ นี้เด็กไทยอายุ 12 ปีขึ้นไปอาจจะได้ฉีดวัคซีนโควิด mRNA แต่ปีการศึกษาหน้าก็ยังคงมีนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเรียนอยู่บ้านไปอีกระยะ

การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางออกสำหรับวัยอนุบาล และประถม ประสิทธิภาพทางการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองคำนวณคู่กับค่าเทอม บางครอบครัวที่ประสบปัญหาทางการเงินอาจตัดสินใจเปลี่ยนโรงเรียน หรือดรอปเรียน ส่วนการศึกษาแบบ Home School ก็เป็นทางเลือก แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่ทำได้กับเด็กทุกคน

การวางแผนการเรียนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กเล็กวัยอนุบาลและประถมเป็นสิ่งที่พ่อแม่คำนึงควบคู่กับค่าเทอม บางครอบครัวที่ประสบภาวะการเงินตัดสินใจดรอปเรียน หรือวางแผนการเรียนแบบ Home School วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด รวมถึงวิธีการปรับตัวให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สูงสุด

ดร.พัชรี ทรัพย์ทวีพร ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เผยว่า “ผู้ปกครองกว่า 60% ประสบปัญหาความพร้อมทางการเงิน ทั้งเกิดจากการถูกเลิกจ้าง รายได้เปลี่ยนแปลง และความไม่แน่ใจว่าลูกจะได้รับความรู้คุ้มค่ากับค่าเทอมหรือไม่ ทางโรงเรียนจึงจำเป็นต้องสร้างทางเลือกให้กับนักเรียนและผู้ปกครองได้เข้ามาเรียนในช่วงเวลาการสอนแบบ Realtime และการเรียนย้อนหลัง”

ดร.พัชรี ทรัพย์ทวีพร ผู้อำนวยการโรงเรียนประสานมิตร ลำลูกกา คลอง 2 จ.ปทุมธานี

ผลกระทบด้านรายได้นี้จึงเป็นหลักที่ทำให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องเลิกจ้างพนักงานในบางตำแหน่ง แต่ก็ยังคงต้องรักษาคุณภาพของการเรียนการสอนเอาไว้ให้มากที่สุด

“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย ดังนั้นทางโรงเรียนต้องปรับตัวให้มีสื่อการเรียนการสอนทำเป็นคู่มือให้ใช้เล่นกับลูก และให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อยู่ที่บ้าน ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เด็กเล็กวัยอนุบาลน่าเป็นห่วงที่สุด ต้องฝากให้ผู้ปกครองปลูกฝังวินัยและระเบียบจากกิจกรรมประจำวัน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

ส่วนวัยประถมจะต้องให้เด็กเรียนรู้วิธีหาความรู้ โดยใช้วิธีสร้าง Personal Project ในวันที่มาเรียนที่โรงเรียนได้คุณครูจะสอนเนื้อหาวิชาการเพื่อเป็นหลักการและวิธีการ และหลังจากนั้นเด็กๆ ต้องเสาะหาวิธีแก้ไขปัญหา และมีคำถามกลับมาถามคุณครูเพื่อทำโปรเจกต์นั้นให้สำเร็จ”

“อนุบาล” พัฒนาการน่าเป็นห่วงที่สุด

เด็กวัยอนุบาลจะประสบปัญหาด้านพัฒนาการมากที่สุด เพราะสิ่งแวดล้อมที่บ้านกับโรงเรียนไม่เหมือนกัน เมื่อมาโรงเรียนเด็กๆ จะได้วิ่งเล่น ปีนป่าย ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เมื่อต้องเรียนอยู่ที่บ้านคงไม่สามารถสร้างพัฒนาการให้ก้าวกระโดดเหมือนกับการมาเรียนที่โรงเรียนได้ ดังนั้นจึงต้องฝากผู้ปกครองสอนให้เด็กเรียนรู้กิจวัตรประจำวัน ใช้วิธีการกินอยู่ หลับนอน ให้เป็นระเบียบ และทางโรงเรียนต้องยอมรับว่าเทอมหน้าพัฒนาการบางอย่างของเด็กบางคนจะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ที่โรงเรียน

“ประถม” จะได้รับการปลูกฝัง “คุณธรรม-จริยธรรม-ระเบียบวินัย” ไม่เต็มที่

ที่โรงเรียน ครูจะช่วยกระตุ้นเด็กได้ถึงตัว สังคมในโรงเรียนเป็นตัวจุดสถานการณ์ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัยทางสังคม เด็กประถมกำลังอยู่ในวัยที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ แต่เมื่อต้องอยู่บ้านเวลานานอาจทำให้สิ่งเหล่านี้ขาดหายไป

ในมุมมองของผู้บริหาร ดร.พัชรี เน้นว่าเด็กประถมควรกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ แม้ว่ารูปแบบอาจจะเป็นสัปดาห์ละ 2 ถึง 3 วัน เพื่อให้ครูได้ติดตามพัฒนาการของเด็กๆ โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษาตอบคำถาม และให้แนวคิดทางวิชาการเพื่อให้เด็กนำหลักการนี้ไปหาวิธีการแก้ไขปัญหาในโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมาย

“ผู้เลี้ยง” คือส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ที่บ้าน

‘โรงเรียนพ่อแม่’ เป็นสิ่งที่สามารถเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กนักเรียนที่บ้านได้ โควิดทำให้ผู้ใหญ่ต้องเข้ามาดูแลเด็กๆ โดยไม่ได้เตรียมตัว หน้าที่ดูแลเด็กนักเรียนเคยเป็นของโรงเรียน แต่เมื่อมาโรงเรียนไม่ได้ ความกดดันนี้กลับไปสู่ผู้ปกครอง ดร.พัชรี แนะนำว่า

“หากทางโรงเรียนต่างๆ มีที่ปรึกษาสำหรับผู้ปกครอง เพื่อเตรียมความพร้อมพ่อแม่ให้รู้จักแนวทางการจัดการอารมณ์ และสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมก็จะช่วยให้ดูแลลูกในช่วงที่โรงเรียนยังเปิดไม่ได้ โดยจัดครูหรือนักจิตวิทยาที่พ่อแม่คุยแล้วสบายใจ”

มุมมองอนาคตเทอมหน้า และปีการศึกษา 2565 ท่ามกลางโควิด

ต่างประเทศกำลังคิดค้นวิจัยวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป หากสำเร็จจะช่วยให้เด็กทั้งโลกกลับมาใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้ตามปกติ ระหว่างนี้คงไม่สามารถเปิดเรียนให้เด็กๆ มาเรียนได้ 100% โรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนเริ่มวางแผนให้เด็กๆ มาเรียนแบบสลับกลุ่ม เพื่อให้เด็กเข้ามาพบกับครู แต่เชื่อว่าในเทอมหน้าทาง สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จะหาวิธีให้เด็กๆ ไปโรงเรียนได้ หรือออกแบบวิธีการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19

หวังว่าเร็วๆ นี้จะมีเทคโนโลยีที่หยุดโรคระบาดนี้ได้ โควิดได้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของคนทั้งโลกไปแล้ว ในด้านมิติการศึกษา หากโรงเรียนยังเปิดเทอมไม่ได้จะส่งผลระยะยาวต่อเด็กรุ่นใหม่หรือไม่นั้น โรงเรียนและผู้ปกครองควรร่วมกันออกแบบวิธีการเรียนรู้เพื่อรักษาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์.

ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช