เกษียณอายุอย่างไรไม่ยากจน




ในขณะที่ “ปัญหาความยากจน” ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประเทศไทย และเป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังพยายามเร่งขจัดให้หมดไปโดยเร็วที่สุด “ความยากจนของคนสูงวัย” กำลังมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น เพราะ “สังคมสูงวัย” กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วกว่าที่คาด

คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นไม่แตกต่างจากคนชาติอื่นๆ แต่ขณะที่คนชาติอื่นเกษียณช้าลง คนไทยส่วนใหญ่ยังเกษียณที่ 60 ปีเหมือนเดิม ทำให้ช่วงชีวิตหลังเกษียณยาวนานขึ้นกว่าเดิม และหากมองไปในอนาคต คนไทยในขณะนี้มีลูกน้อยลง ดังนั้น การพึ่งพาลูกหลานในช่วงเกษียณจะยากขึ้นและท้าทายมากขึ้นตาม

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์” ซึ่งเป็นสถาบันเศรษฐกิจภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกบทวิจัย “ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน” : ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 และบทวิจัย “ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ : ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน” ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ โดยจะนำมาสรุปง่ายๆเพื่อช่วยปรับแผนการเงินสำหรับผู้สูงวัยในอนาคตและเงินช่วยเหลือผู้สูงวัยจากรัฐบาลที่อาจจะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในงานวิจัยพบว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ “เก็บออมด้วยตนเอง” ได้ไม่เพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณ ส่วนหนึ่งมาจากมีรายได้ไม่เท่ากันในวัยทำงาน ทำให้บางคนเก็บออมได้มาก ขณะที่บางคนลำพังค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็แทบไม่เพียงพอ นอกจากนั้น แม้ว่าจะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ เงินบำเหน็จ และบำนาญจากระบบประกันสังคม รายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ

โดยในปี 2563 พบว่า มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ภาคบังคับ) ประมาณ 11.16 ล้านคน ซึ่งส่วนนี้จะได้รับเบี้ยชราภาพ ขณะที่มีแรงงานนอกระบบที่มีการสะสมเงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณมี 5.1 ล้านคน โดยแบ่งออกเป็นผู้ประกันตน ม.39 จำนวน 1.7 ล้านคน ผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือกที่ 2 จำนวน 830,334 คน ทางเลือกที่ 3 จำนวน 155,854 คน และเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 2.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบตัวเลข 5.1 ล้านคน กับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมดซึ่งมีอย่างน้อย 19.7 ล้านคน จะพบว่าสัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สมัครใจออมเงินเพื่อรองรับการเกษียณมีเพียง 26% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนความช่วยเหลือของรัฐจะมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐาน โดยเบี้ยยังชีพที่จ่ายคิดเป็น 600-1,000 บาทต่อเดือน ขณะที่เบี้ยชราภาพ ในระบบประกันสังคมในปัจจุบันจะมีสูตรและเงื่อนไขที่ต่างกัน สำหรับ ม.33 และ 39 ซึ่งผู้ที่ส่งสมทบ 180 เดือนขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต

1.กรณีสมทบ 180 เดือน : เงินบำนาญ = 0.2 × ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน และ 2.กรณีสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปี) : เงินบำนาญ = (0.2 + 0.015 × (จำนวนปีที่สมทบ-15)) × ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน คิดจากเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาทต่อเดือน (ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน คิดจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายที่ทำงานและมีเพดานเงินเดือนเงินสมทบอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน โดยขอรับบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 55 ปี)

โดยหากมีลูกจ้างสามคนคือ A B และ C มีรายได้เฉลี่ยช่วงชีวิตการทำงานเป็น 50,000 บาท 20,000 บาท และ 8,500 บาทต่อเดือน ส่งสมทบเป็นเวลา 15 ปีและเกษียณที่อายุ 55 ปี A และ B จะได้เงินบำนาญต่อเดือนที่ 3,000 บาท และ C ได้ 1,700 บาท และจะได้เพิ่มขึ้นอีกหากจำนวนปีที่ส่งสบทบมากขึ้น แต่สูงสุดยังอยู่ที่หลักพันบาทต่อเดือน

นอกจากนั้น อีกทางของรายได้หลังเกษียณอาจจะมาจากการสะสมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจของแต่ละบริษัทเอกชน

ทั้งนี้ ตัวเลขความพอเพียงในการดำรงชีพของผู้สูงอายุในงานวิจัยอ้างอิงจากเส้นตัวเลขความยากจนคือ 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน และหากเป็นการดำรงชีพแบบพออยู่ได้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 6,000 บาทต่อเดือนต่อคนขึ้นไป

ดังนั้น ทางออกที่จะ “สูงวัย แบบไม่ยากจน” คือต้องมี “การออม” เพื่อเกษียณเพิ่มขึ้น โดยเป็นการบูรณาการเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่ายทั้งรัฐ และประชาชน เพราะผู้วิจัยมองว่า หากพึ่งเงินออมของประชาชนอย่างเดียวคงไม่สามารถทำได้

โดยภาครัฐจะต้องปรับทิศทาง “เงินช่วยเหลือ” ซึ่งเป็นการออมเงินจากภาครัฐเพื่อช่วยคนไทยในยามเกษียณให้เหมาะสมขึ้น เช่น การปรับสูตรบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคม ผสมผสานกับการช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆ รวมทั้งปรับกฎเกณฑ์ยืดเวลาการเกษียณอายุ หรือให้ทำงานได้แม้ในวัยเกษียณ

สำหรับประชาชน การวางแผนออมเงินที่เหมาะสมในแต่ละเดือนในทุกช่องทางตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยควรจะอยู่ที่ 30% ของรายได้ขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เรา “อยู่รอดได้สบายๆในยามเกษียณ”

ประอร นพคุณ