หน้าที่และความสำคัญของ “ระบบต่อมไร้ท่อ”




ร่างกายของคนเราประกอบด้วยระบบต่างๆ มากมายหลายระบบ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง “ระบบต่อมไร้ท่อ” ก็เป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย และวันนี้เราจะพาไปรู้จักระบบนี้กันให้มากขึ้น

“ระบบต่อมไร้ท่อ” เป็นต่อมที่ไม่มีท่อ ทำงานโดยการสร้างสารเคมีที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” หลังจากนั้นฮอร์โมนจะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดไปสั่งการที่อวัยวะเป้าหมายโดยเฉพาะให้มีการทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งของฮอร์โมนนั้นๆ ดังนั้นฮอร์โมนแต่ละชนิดจึงมีหน้าที่จำเพาะเจาะจงต่ออวัยวะเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป

ต่อมไร้ท่อที่ควรรู้จัก มีดังนี้

ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ และส่งไปยังอวัยวะเป้าหมาย ซึ่งมีหลายอวัยวะ เช่น ที่หัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว ที่ระบบควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กจำนวน 4 ต่อม อยู่บริเวณด้านหลังเนื้อเยื่อไทรอยด์ ทำหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมนพาราไทรอยด์” ควบคุมสมดุลของแคลเซียมของร่างกาย

ต่อมหมวกไต คือ ก้อนเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมบริเวณด้านบนของไตทั้ง 2 ข้าง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ได้แก่

เนื้อเยื่อชั้นนอก ซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด คือ

  • กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
  • มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • ฮอร์โมนเพศ (Sex Hormone) ทำหน้าที่ช่วยควบคุมลักษณะทางเพศที่สมบูรณ์ในร่างกายทั้งเพศชายและหญิง

เนื้อเยื่อชั้นใน อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทซิมพาเทติก ที่ควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองจากสิ่งเร้าภายนอก โดยทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คือ อะดรีนาลีนและนอร์อะดรีนาลีน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

ต่อมไอส์เลตส์ของตับอ่อน คือ กลุ่มเซลล์ขนาดเล็กที่อยู่ในตับอ่อน มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด คือ อินซูลินและกลูคากอน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับต่อมไร้ท่อ ก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งโรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อที่ควรรู้จัก มีดังนี้

  • โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมไร้ท่อของตับอ่อน
  • โรคไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroidism) หรือภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) หรือภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
  • โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง เกิดจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ของต่อมใต้สมอง (pituitary gland)
  • ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไปชนิดปฐมภูมิ ทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง มีนิ่วที่ไต และกระดูกพรุนหรือหัก

@ @ @ @ @ @ @

แหล่งข้อมูล

รศ.พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล