สารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม




น้ำพริกหนุ่ม อาหารถิ่นภาคเหนือที่นิยมทานคู่กับแคบหมู ทานแล้วรสชาติเข้ากันแถมยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เป็นเมนูอาหารเหนือที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่อากาศหนาวเย็นแบบนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวภาคเหนือก็มักซื้อหาน้ำพริกหนุ่มกลับมาเป็นของฝากให้กับคนในครอบครัว

น้ำพริกหนุ่มมีส่วนผสมหลักๆ คือ พริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดง น้ำตาล มะนาว น้ำปลา บางสูตรอาจเพิ่มส่วนผสมพิเศษ เช่น น้ำปลาร้า แมงดา เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นที่แตกต่างตามต้องการ ปัจจุบันมีร้านค้าและผู้ผลิตน้ำพริกหนุ่มหลายยี่ห้อทำน้ำพริกหนุ่มออกวางขาย การซื้อน้ำพริกหนุ่มนอกจากจะเลือกซื้อจากร้าน ยี่ห้อที่รสชาติอร่อยถูกปากเราแล้ว ควรเลือกซื้อจากร้านหรือผู้ผลิตที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี ปลอดภัย มีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด ผลิตสดใหม่ และยังไม่หมดอายุด้วย ที่สำคัญต้องไม่มีการเติมสารกันบูด

น้ำพริกหนุ่มเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีอายุการเก็บรักษาไม่นาน หากทานไม่หมดก็ต้องแช่ตู้เย็นเก็บไว้ ทำให้ผู้ผลิตบางรายมีการเติมสารกันบูดเช่น กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกลงไปเพื่อช่วยให้เก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ

สารกันบูดทั้ง 2 ชนิดนี้ กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ต้องใช้ตามชนิดอาหารและปริมาณที่กำหนดไว้เท่านั้น ถ้าเราได้รับสารกันบูดทั้ง 2 ชนิดในปริมาณน้อยจะไม่ทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย เพราะร่างกายมีกลไกกำจัดความเป็นพิษของกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกโดยขับออกทางปัสสาวะ ผ่านกระบวนการทำงานของตับและไต แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เลือดตกใน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง อาจส่งผลถึงขั้นพิการได้

วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มบรรจุถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และขวดแก้ว จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 4 ยี่ห้อ และ 1 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณของสารกันบูด 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ผลปรากฏว่าพบกรดเบนโซอิกในน้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ในปริมาณค่อนข้างมาก และพบกรดซอร์บิกใน 1 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณน้อย ท่านที่ทานน้ำพริกหนุ่มเป็นประจำ ขอแนะว่าควรทำทานเองที่บ้านจะดีกว่า หรือซื้อจากร้านที่ไว้ใจได้ว่าไม่เติมสารกันบูด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสะสมของสารต่างๆในร่างกายมากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย