วันบูชาพระพิฆเนศ 2565 31 สิงหาคม – 9 กันยายน พร้อมบทสวดบูชา




วันบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถีของชาวอินเดีย จะจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในวันที่ 4 ของข้างขึ้นเดือน ภัทรปัทตามปฏิทินเกรเกอเรียน วันบูชาพระพิฆเนศ 2565 ตรงกับวันที่ 31 ส.ค. – 9 ก.ย.

วันบูชาพระพิฆเนศ มีความสำคัญอย่างไร

พระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าฮินดูที่มีความสำคัญต่อชาวอินเดียทุกวรรณะ พระพิฆเนศถือเป็นเทพแห่งสรรพวิชาความรู้ ได้รับการยอมรับจากผู้นับถือหลายประเทศ การบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถีช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ถือเป็นการระลึกถึงการได้รับเอกราชจากอังกฤษของประเทศอินเดีย

การบูชาพระพิฆเนศ จะเริ่มจากการอัญเชิญเทวรูปเข้ามายังเคหสถาน การเฉลิมฉลองวันคเณศจตุรถีนิยมกันมากในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะรัฐมหาราษฏระ โดยการนำดินเหนียวของพระคเณศจุ่มตามแหล่งน้ำ และนำมาตั้งในบ้าน หรือที่ตั้งร้าน การเฉลิมฉลองในเทวสถานต่างๆ ก็มีการบูชาพระพิฆเนศปางต่างๆ แตกต่างกันไป นอกจากท้องถิ่นที่นับถือพราหมณ์ฮินดู ก็ปรากฏการบูชาพระพิฆเนศในเขตพื้นที่อื่นนอกอินเดียอีกด้วย

ไหว้พระพิฆเนศ ในวันบูชาพระพิฆเนศ ห้ามทำอะไรบ้าง

การไหว้บูชาพระพิฆเนศ ในวันบูชาพระพิฆเนศ นิยมทำในวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี ไม่นิยมถวายอาหาร หรือขนม ที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิด

ของไหว้พระพิฆเนศ

ของไหว้บูชาพระพิฆเนศที่ผู้ศรัทธานับถือจัดถวาย ได้แก่ ขนมโมทกะ และลัฑฑู ขนมต้ม ขนมขาว ขนมหวานต่างๆ บูชาด้วยผงจันทน์แดง ดอกไม้สีแดง เครื่องดื่มมักใช้นมสด นมจืด น้ำอ้อย หรือน้ำผลไม้อื่นๆ วางบนภาชนะที่เหมาะสม

บทสวดบูชาพระพิฆเนศ

หัวใจพระคาถาบูชาพระคเณศ
โอม ศรี คะเณศายะ นะมะหะ
โอม วักกระตุณฑะ มหากายา
สุริยะ โกฏิ สะมาประภา นิระวิฆะนัม
คุรุเม เทวะ สาระวะ การะเย ษุ สาระวะทา

คำแปล
ขอน้อมบูชาองค์พระคเณศ ผู้มีงวงอันคดโค้งและงดงาม ความสว่างเจิดจ้าดั่งแสงสุริยะนับล้านดวงได้แผ่กระจายออกมาจากพระองค์ นานาอุปสรรคที่ขัดขวางจงถูกทําลายด้วยน้ํามือของพระองค์ และขอทรงประทานความสําเร็จแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

คาถาบูชาพระพิฆเนศปางประทานพร

ตั้งนะโม 3 จบ

โองการพินธุนาถัง อุปปันนัง พรหมาสะ
หะปะตินามะ อาทิกัปเป สุอาคะโต ปัญจะ
ปะทุมังทิสวา นโมพุทธายะ วันทะนัง โอมอิด
พิฆเนศวรอิ จะมหาพรหมา มหิตทิเดชา
สรรพเสน่หา ประสิทธิเม

ไหว้พระพิฆเนศ ธูปกี่ดอก

ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวฮินดู ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้ธูป ผู้บูชาสามารถใช้การจุดกำยาน หรือจุดธูปตามจำนวนเลขมงคลที่เหมาะสมก็ได้ หรือไม่จุดธูปโดยใช้สิ่งอื่นที่เป็นตัวแทนของไฟ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาแทนได้

ไหว้พระพิฆเนศที่ไหน

การประดิษฐานพระพิฆเนศที่บ้าน หรือที่ออฟฟิศ มักนิยมตั้งอยู่สูง ในบริเวณที่เหมาะสม หันหน้าทางทิศใดก็ได้ ส่วนสถานที่สักการะองค์พระพิฆเนศที่นิยม ได้แก่

  • เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ แขวงเสาชิงช้า กรุงเทพฯ
  • เทวาลัยพระพิฆเนศ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
  • อุทยานพระพิฆเนศ จังหวัดนครนายก
  • ศาลพระพิฆเนศ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี
  • ศูนย์ปฏิบัติธรรม วัดช่องลม จังหวัดราชบุรี

ไหว้พระพิฆเนศ ห้วยขวาง จุดบูชาพระพิฆเนศยอดนิยม

เมื่อนึกถึงจุดสักการะองค์พระพิฆเนศยอดนิยมในกรุงเทพมหานคร ผู้ศรัทธามักเดินทางไปยังสี่แยกห้วยขวาง หลายคนเชื่อว่าเป็นเทวสถานขอพรบนบานเรื่องความสำเร็จ สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ลงที่สถานีห้วยขวาง และเดินไปยังทางออก 4

วิธีการไหว้พระพิฆเนศ ห้วยขวาง ปางประทานพร มักนิยมถวายพวงมาลัยดอกดาวเรือง กุหลาบสีแดง ภายในศาลมีผู้จัดธูปเทียนจำหน่ายแก่ผู้มาสักการะ และเลือกเทียนเพื่อจุดถวายตามวันเกิด ได้แก่

  • วันจันทร์ ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีเขียว หรือ สีน้ำเงิน
  • วันอังคาร ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีเขียว หรือ สีน้ำเงิน
  • วันพุธ ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีแดง หรือ สีดำ
  • วันพฤหัสบดี ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีส้ม หรือ สีฟ้า
  • วันศุกร์ ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีชมพู
  • วันเสาร์ ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีม่วง หรือ สีดำ
  • วันอาทิตย์ ถวายเทียนไหว้พระพิฆเนศสีเหลือง หรือ สีแดง

นอกจากวันบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถี ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี ยังมีวันที่บูชาพระพิฆเนศครั้งสำคัญที่เชื่อว่าเป็นวันประสูติช่วงเดือนกุมภาพันธ์อีกด้วย.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :