รู้จัก “พาร์กินสัน โรคที่มีมากกว่าอาการสั่น” (ตอน 3)




“โรคพาร์กินสัน” เป็นโรคที่เกิดจากการที่สารสื่อประสาทโดปามีนส่งออกมาผิดปกติ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการเดินติดขัด ก้าวขาไม่ออก (freezing of gait) เทคนิคที่สามารถช่วยผู้ป่วยได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การกระตุ้นด้วยเสียง และการกระตุ้นด้วยการมองเห็น

การกระตุ้นด้วยเสียง คือ การให้ผู้ป่วยฟังจังหวะเพลง การที่ผู้ป่วยเดินตามจังหวะ ช่วยลดการเดินติดขัดได้

การกระตุ้นทางลานสายตาด้วยการมองเห็น มีด้วยกันหลายวิธี เช่น การตีเส้นที่พื้นให้คนไข้ก้าวข้าม การทำพื้นเป็นรูปดาว การทาสีกระเบื้องที่แตกต่างกัน เมื่อมีการกระตุ้นด้วยการมองเห็น ทำให้ขาที่ติดขัดของผู้ป่วยสามารถเดินได้อย่างปกติ

นวัตกรรมที่นำมาช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันในประเทศไทยที่มี คือ การทำไม้เท้าเลเซอร์ ซึ่งใช้หลักการของแสงเลเซอร์ที่เวลาเดิน จะมีแสงส่องไปข้างหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยเดินตามแสงเลเซอร์ ทำให้การเดินสม่ำเสมอ ไม่ติดขัด

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นอุปกรณ์ช่วยกำหนดจังหวะการเดินในผู้ป่วยโดยออกแบบมาในรูปแบบของ “สายรัดข้อเท้า” ซึ่งอุปกรณ์นี้จะมีเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของขา แล้วปล่อยแสงเลเซอร์เพื่อกำหนดระยะการก้าวออกมาข้างหน้า ให้ผู้ป่วยก้าวข้าม ซึ่งจะช่วยลดอาการเดินติดขัดในผู้ป่วยพาร์กินสันได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถตรวจจับรูปแบบของการเดิน เพื่อสังเกตการเดินของผู้ป่วย ในขณะที่ไม่ได้พบแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเวลามาพบแพทย์อาจจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยอาการ หรือ สถานะของโรคได้อย่างถูกต้อง อุปกรณ์นี้จะมีประโยชน์เพื่อใช้ในการติดตามอาการของผู้ป่วย เป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค หรือ สถานะของโรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำไปรับโปรแกรมการรักษาให้มีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การออกกำลังกาย การฝึกการทรงตัว เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา “สายรัดข้อเท้า” ให้สามารถแสดงผลการเดิน โดยดูผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้

ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสายรัดข้อเท้า นวัตกรรมช่วยเดินสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันได้ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โทร. 0-2201-1154 หรือสแกน line official ได้ตาม QR code

_____________________________________________________

แหล่งข้อมูล
อ.นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ.พญ.พีรยา รุธิรพงษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล