พลังศรัทธา “ตรุษจีน” แก้ชงดวงเปลี่ยนปีผ่าน




วันตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งก็คือ “วันเที่ยว” นั่นเองโดยก่อนที่จะถึงก็ยังมีอีก 2 วันสำคัญก็คือ… “วันจ่าย” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 กับ “วันไหว้” ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565

ศรัทธา…ความเชื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ไหว้ตรุษจีนมีว่า “ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วงเช้า”

เริ่มจากเวลาประมาณ 06.00 น.เป็นต้นไป หรือความ สะดวกของแต่ละครอบครัว เป็นการไหว้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเรือน ที่มาปกปักดูแลให้เจ้าบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

หลังจากไหว้เสร็จ อาจจะเผากระดาษเงินกระดาษทองตามประเพณี

“ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงสาย”…เป็นการไหว้เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ทั้งยังเป็นการแสดงความกตัญญูตามความเชื่อของชาวจีน เวลาประมาณ 10.00 น. ไม่เกินเที่ยง หลังจากไหว้เสร็จรอธูปหมดให้นำอาหารมาแบ่งกันรับประทานภายในครอบครัว หรือแบ่งเพื่อนบ้านก็ดี

“ไหว้ทำทานสัมภเวสี ช่วงบ่าย”…สำหรับการไหว้ทำทานแก่ผีไม่มีญาติหรือสัมภเวสีนั้น จะทำพิธีไหว้ตอนบ่ายเป็นต้นไป ให้ดีไม่ควรเกิน บ่ายสี่โมงเย็น พอไหว้เสร็จให้จุดประทัด

เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปให้หมด และเพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับตรุษจีน

สุดท้าย…“ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพแห่งโชคลาภ ช่วงดึก”

ให้รู้ไว้ว่า…ฤกษ์ไหว้ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ให้เริ่มทำในยามแรกของปี นั่นคือ เวลา 23.00 น. จนถึง 05.00 น. โดยตั้งโต๊ะไหว้ให้หันหา ทิศตะวันออก

อัญเชิญ “องค์ไฉ่ซิงเอี้ย” เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพราะเชื่อว่าปีนี้เทพไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จมาในทิศตะวันออกประทับสู่บ้านของเรา เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นอันเสร็จพิธี

O O O O

ศรัทธาความเชื่อเกี่ยวกับการยับยั้งเรื่องร้ายๆในทางโหราศาสตร์ตำราจีนยังคงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจใคร่รู้สำหรับคนที่อยาก “รู้” และ “เชื่อ” อาทิ สรรพคุณของ “ฮู้” หรือ “ยันต์จีน”

“ทุกวันตรุษจีนจะเป็นการที่คุณพ่อให้เปลี่ยนยันต์ไต้ฮงกงติดที่เหนือประตูทางเข้าบ้านแบบติดตายตัวทุกปี เพราะเป็นยันต์ที่มีอายุใช้งานแค่ปีเดียว ส่วนแชเล้งฮู้จะเป็นการที่คุณพ่อจะใช้เผาทำเป็นน้ำมนต์ จะใช้ก็ต่อเมื่อคุณพ่อมีเรื่องสำคัญ เช่นจะไปทำงานใหญ่ที่ต้องการความ ราบรื่นและความสำเร็จ…

เช่นในวันที่ไปสัมภาษณ์งาน คุณพ่อจะทำน้ำมนต์จากการเผายันต์แชเล้งฮู้ให้ขี้เถ้ายันต์ตกอยู่ในแก้วน้ำดื่ม จิบแบบกลั้นใจสามอึกพร้อมอธิษฐาน

หรืออย่างก่อนคุณพ่อคุณแม่จะไปเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดก็จะดื่มน้ำมนต์แชเล้งฮู้ก่อนออกจากบ้าน แถมด้วยการต้องพกยันต์ไต้ฮงกงไปติดไว้ที่หัวเตียงคนไข้ หรือไว้ใต้หมอนให้คุ้มครองจากวิญญาณผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วไม่ได้ไปไหนมารบกวนและทำให้คนไข้ดวงตก”

ประสบการณ์ข้างต้นนี้มาจากนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า “สิงห์สุริยันต์” แต่วนเวียนอยู่แค่ยันต์ไต้ฮงกงกับแชเล้งฮู้ แปลว่า “ยันต์มังกรเขียว” ของท่านเซียนสง่าแห่งวิหารเซียน

ด้วยหลักการแล้ว ยันต์จีนคือการเขียนคำจีนที่ต้องการบอกต่อสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร เป็นการรวบรวมคำเข้ามาอยู่ในกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งเท่าที่สังเกตก็มีมาตรฐานบังคับอยู่เหมือนกัน

O O O O

สุภาษิตจีนได้กล่าวไว้ว่า “ที่ไหนมีควันไฟ ที่นั่นมีคนจีนอาศัยอยู่”…นั่นหมายความว่าชาวจีนมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งของประเทศต่างๆทั่วโลก

“การสืบทอดอัตลักษณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนที่สะท้อนผ่านประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ในรอบหนึ่งศตวรรษ” จรรยา เหลียว ตระกูล, มนต์ ขอเจริญ, อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว สะท้อนไว้ในดุษฎีนิพนธ์ (2559) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ว่า

“ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ”…กล่าวถึงอัตลักษณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนที่สะท้อนประเพณีได้ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นปู่ย่าตายาย…ผู้สร้างวัฒนธรรมของปิตุภูมิ มาตุภูมิในพื้นที่ใหม่

ถัดมา…รุ่นพ่อรุ่นแม่ ผู้สืบทอดวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างมา และ รุ่นลูกรุ่นหลาน…ผู้เลือกเสพวัฒนธรรมตามอำนาจการเลือกที่พึงมีของตน โดยมีวิธีสืบทอดผ่านตัวแทน

ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำสายหลักหล่อเลี้ยงคนในชุมชนต่างๆของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของกลุ่มชาติพันธุ์หลากกลุ่ม

ทั้งไทย จีน มอญ ลาว ญวน แขกมุสลิม ในบรรดาชาติพันธุ์เหล่านี้ “จีน”…ถือเป็นกลุ่มชาติ

พันธุ์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

“นครสวรรค์” เป็นชุมทางด้านการคมนาคม การค้าขาย มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนจีน คนไทย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การปรับตัว พบว่าวัฒนธรรมที่โดดเด่นของนครสวรรค์ที่มีการผสมระหว่างวัฒนธรรมจีนและคนพื้นถิ่น ที่สืบทอดกันมายาวนานถึงปัจจุบันคือ “ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ”

น่าสนใจว่า…ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพเป็นพิธีกรรมเป็นสื่อที่เชื่อมโยงโลก 3 มิติ ประกอบด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงโลกใน 3 มิติ คือ…ระหว่างมนุษย์ สิ่งของ และอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดได้

…เป็นสิ่งที่สูงที่สุด ที่แต่ละสังคมร่วมกันกำหนดและยอมรับ

ถัดมา…พิธีกรรมเป็นสื่อที่ระดมพลังชุมชนได้อย่างเข้มข้น กล่าวคือ เป็นสื่อที่มีศักยภาพในการระดมความร่วมมือของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี และพิธีกรรมนี้ยังเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนผ่านสถานะ

กล่าวคือ…“การประกอบพิธีกรรมในประเพณีตรุษจีนจะเป็นการเปลี่ยนผ่านกาลเวลา จากปีเก่าสู่ปีใหม่ เชื่อว่าสิ่งดีๆสิ่งใหม่ๆสิ่งมงคลจะเกิดขึ้นในชุมชน เกิดขึ้นต่อบ้านเรือน เกิดขึ้นต่อคนในชุมชนในทางที่ดี

หากมีภัยหรือสิ่งเลวร้ายก็จะมีการแก้ดวง (แก้ชง) ฝากดวง (เวลาตกฟากวันเดือนปีเกิดของผู้ที่คิดว่าเคราะห์ไม่ดี) ไว้กับเทพเจ้าให้คุ้มครองดูแล…มีพิธีกรรมที่จะผ่านพ้นดวงชะตามีเคราะห์ในปีที่ไม่ดีทั้งปีนั้นได้”

“ศรัทธา”…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้…“ลบหลู่”.

รัก-ยม