พลังงานไฟฟ้าที่เอามาชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สะอาดจริงหรือ?




ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 45,595.87 เมกะวัตต์ แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันไทยทุกวันนี้มาจาก ก๊าซธรรมชาติ 57.8% การนำเข้าถ่านหิน coal / lignite 16.2% ได้มาจากพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) 10.4% ได้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 2.9% และได้มาจากน้ำมัน 0.5%

จากภาพ เราได้พลังงานไฟฟ้ามาชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของอีลอน จาก

พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนน้อย แต่อนาคตจะดีขึ้น
พลังงานคลื่นจากทะเล เรายังไม่มีเครื่องมือแปลงพลังงานคลื่นเป็นกระแสไฟฟ้า
พลังงานลม เราใช้งานกังหันผลิตไฟฟ้ามานานแล้วแต่แค่พื้นที่เล็กๆ ถ้าวันไหนลมนิ่งล่ะ เราจะชาร์จไฟกันยังไง
พลังงานก๊าซธรรมชาติ เราพึ่งพาเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับการปั่นกระแสไฟฟ้า แต่มันก็ปล่อยมลพิษเช่นเดียวกัน
พลังงานจากถ่านหิน ยังมีโรงไฟฟ้าบางโรงในไทยที่เผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า อย่าบอกว่ามีการจัดการอย่างดีกับมลพิษเพราะมันไม่จริง
พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซากไดโนเสาร์ที่ตายไปสองร้อยล้านปีกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้เราเอาไว้ปั่นกระแสไฟ การเผาเชื้อเพลิงนั้นก่อมลพิษอย่างมโหฬาร
พลังงานนิวเคลียร์ เหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล และฟุกุจิมะระเบิด ทำให้คนไทยและทั่วโลกหวาดกลัวต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ถ้ารั่วขึ้นมาก็จะต้องทิ้งพื้นที่บริเวณที่รั่วนานเป็นพันๆ ปี กว่าที่รังสีอันตรายจะลดระดับลงจนปลอดภัย

สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ปี 2564

ประเภทเชื้อเพลิง สะสมเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564

ก๊าซธรรมชาติ 75,552.61 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 57.55

ถ่านหิน (รวมลิกไนต์) 30,499.15 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 23.23 

ฅพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ, อื่นๆ) 23,185.60 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 17.66

น้ำมันเตา 341.32 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 0.26 

น้ำมันดีเซล 185.42 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 0.14
แหล่งไฟฟ้าอื่นๆ (สปป.ลาว, มาเลเซีย, ลำตะคองชลภาวัฒนา) 1,517.02  ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 1.16

รวม 131,281.12 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง 

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานต่างเห็นพ้องกันว่า ความต้องการพลังงานทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ. 2050 เมื่อเทียบกับระดับของปี ค.ศ. 2000 ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน การรับมือความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในระบบพลังงานของโลกและแหล่งพลังงานใหม่ เนื่องจากระบบพลังงานมีขนาดใหญ่มากและความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามร่วมกันอย่างมหาศาล โดยมุ่งพัฒนาพลังงานสะอาดมากกว่าการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก 

ก๊าซธรรมชาติ เป็นสารไฮโดรคาร์บอนเผาไหม้ มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติมีส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก๊าซธรรมชาติก็ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณครึ่งหนึ่ง และสร้างมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ประมาณหนึ่งในสิบเมื่อเทียบกับถ่านหิน แม้จะดูสะอาดกว่า แต่ก๊าซธรรมชาติก็ยังคงปล่อยมลพิษออกมาอยู่ดี

แหล่งพลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
เป็นพลังงานธรรมชาติ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ รวมถึงผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง หรือมูลสัตว์ ก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะพลังงานเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังสามารถส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานไฟฟ้า.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/