พบเซลล์ในตับอ่อน “รีโปรแกรม” เพื่อยับยั้งโรคต่อต้านภูมิตัวเอง




ชาวอเมริกันมากกว่า 23 ล้านคนกำลังเผชิญกับโรคภูมิต้านตัวเอง ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีและทำลายอวัยวะ เนื้อเยื่อ รวมถึงเซลล์ที่แข็งแรง โดยมีโรคภูมิต้านตนเองมากกว่า 80 ชนิด รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้อักเสบ และหนึ่งในนั้นคือโรค T1D ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มเบาหวานประเภท 1 ดร.โกลนาซ วาฮีดี รองศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์และสมาชิกของสถาบันโรคเบาหวาน, โรคอ้วนและเมตาบอลิซึมแห่ง Perelman School of Medicine มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Meta bolism ว่า เซลล์ที่ผลิตอินซูลินซึ่งเรียงตัวอยู่ในท่อตับอ่อนในตับอ่อนเมื่อถูกทีลิมโฟไซต์ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันของตนเองโจมตี โดยทำลายเซลล์เบตาที่เป็นตัวสร้างอินซูลินโดยจะทำให้ตับอ่อนหยุดผลิตอินซูลิน จะพยายามรีโปรแกรมตัวเองเพื่อยับยั้งภูมิต้านตนเอง

ดร.วาฮีดีบอกว่า โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิเคราะห์ตับอ่อนของมนุษย์ (Human Pancreas Analysis Program-HPAP) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 28 ล้าน ดอลลาร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ซึ่งให้การสนับสนุนนักวิจัยทั้งของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มหาวิทยาลัยฟลอริดา และมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ซึ่งมี นพ.คาสต์เนอร์ และ นพ.อาลี นาจิ รวมทั้ง ศ.วิลเลียม ไวท์ ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยศัลยกรรม ทำการรวบรวมเนื้อเยื่อตับอ่อนจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตหลายร้อยรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค T1D และพบว่าเซลล์เบตา ซึ่งไม่เคยเชื่อมโยงกับภูมิคุ้มกันมาก่อน อาจเปลี่ยน แปลงตัวเองเพื่อปกป้องตับอ่อนได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงการถอดรหัสเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดหรือเป็นผลที่ตามมาของการเกิดโรคหรือไม่ แต่การค้นพบครั้งนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตับอ่อนในระยะแรกที่เกิดขึ้นใน T1D ทำให้สามารถกำหนดหลักสูตรเพื่อทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องในด้านนี้ต่อไป.