ปวดท้องเรื้อรังอย่านิ่งนอนใจ คุณอาจเสี่ยงเป็น “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” (ตอน 2)




หลังจากได้รู้จักชนิด สาเหตุ อาการและการวินิจฉัย “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” กันไปแล้วสัปดาห์นี้ก็ยังมีเรื่องราวน่ารู้ของโรคนี้กันต่อ

การรักษา

ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งอะไรก็ตาม การรักษาในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ

1. การใช้การผ่าตัดรักษา

2. การใช้ยารักษา ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ยาเคมี ยามุ่งเป้า เป็นต้น

3. การใช้รังสีรักษา

โดยที่โรคมะเร็งแต่ละชนิดใช้การรักษาที่แตกต่างกันไป สำหรับการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารโดยเฉพาะ มะเร็งเยื่อบุกระเพาะนั้น ในระยะที่ทำให้หายขาดได้ยังจำต้องอาศัยการผ่าตัดเป็นหลัก ส่วนการให้ยา หรือการฉายรังสี เป็นการรักษาร่วมเพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรค ดังนั้น คนไข้มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่รักษาได้ จึงจำเป็นต้องผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดปัจจุบันสามารถทำได้หลายแบบ ขึ้นกับระยะของโรคว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

1. ผ่าตัดด้วยกล้องส่องตรวจภายใน (Endoscopy) เช่น ชนิด endoscopic submucosal dissection (ESD)

2. การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ทั้งแบบเจาะรูผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) หรือ ใช้หุ่นยนต์ ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery)

3. การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ปกติ

การผ่าตัดมะเร็งกระเพาะชนิดเยื่อบุผิวกระเพาะโดยทั่วไป นอกจากจะต้องตัดกระเพาะอาหารออกยังจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลือง โดยรอบกระเพาะออกไปด้วย แต่หากเป็นมะเร็งชนิดจีส นั้นโดยทั่วไปจะตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกโดยไม่จำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบไปด้วย

หลังจากการผ่าตัดรักษา คนไข้บางคนจะไม่มีกระเพาะอาหาร หรือบางคนก็อาจจะมีแต่น้อยลง ก็คงต้องปรับตัวเรื่องการกินอาหาร อาจจะต้องกินต่อมื้อน้อยลง แต่กินถี่ขึ้น บางคนมีผลข้างเคียงจากการตัดกระเพาะ เช่น กินอาหารแล้วหน้ามืด ใจสั่น วิงเวียน หรือ บางคนท้องเสีย ได้ และเนื่องจากการที่ไม่มีกระเพาะจะทำให้การดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินบางชนิดแย่ลง จึงต้องได้รับคำแนะนำต่างๆ จากศัลยแพทย์ว่าควรจะปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดอย่างไร และต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกัน

1. กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ เพื่อลดโอกาสในการเป็นมะเร็ง เช่น ผัก ผลไม้สดที่มีวิตามินซี ก็จะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

2. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาหารเค็ม อาหารปิ้งย่าง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะเชื้อโรคเอช.ไพโลไร (H. Pylori) เพราะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

3. หากมีคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอายุน้อยกว่า 40 ปี ควรมาตรวจจะมาตรวจกระเพาะอาหารถ้ามีอาการผิดปกติ เพราะหากเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็อาจเป็นความผิดปกติของยีนได้ การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผลการรักษาได้ผลดี

4. ใครที่ไม่เคยมีอาการปวดท้องมาก่อน แล้วจู่ๆ มีอาการปวดท้องเมื่ออายุ 50 ปี ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย

5 ถ้าหากได้รับยารักษาโรคกระเพาะอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือนแล้วก็ยังไม่หาย ก็ควรได้รับการตรวจแบบส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อหาสาเหตุของโรค และวางแผนการรักษาต่อไป

ถึงแม้ว่า “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” จะเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยในคนไทย แต่ส่วนใหญ่ที่พบ คนไข้มักมีอาการค่อนข้างรุนแรง และรักษายากแล้ว ดังนั้น การเฝ้าสังเกตอาการ และความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อส่องกล้องกระเพาะอาหารโดยด่วน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หากตรวจพบเร็ว การรักษาก็จะได้ผลดีและมีโอกาสหายขาด

_______________________________________________

แหล่งข้อมูล
รศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล