บีบก็ตาย จะคลายก็ยังไม่รอด! ส่องขีปนาวุธและอาวุธหนักหมีขาวที่ใช้ถล่มยูเครน




หลังจากรัสเซียใช้ยุทธวิธีเปิดสงครามเต็มรูปแบบเพื่อบุกจุดยุทธศาสตร์ของยูเครน มีการนำอาวุธร้ายแรงเพื่อโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ด้วยขีปนาวุธพิสัยใกล้จากพื้นสู่พื้น ปืนใหญ่อัตตาจรติดรถถัง และกองกำลังรบพิเศษที่เข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว หลังจากการเปิดฉากยิงถล่มด้วยขีปนาวุธระยะสั้น ตามด้วยการส่งกองพลรถถังเข้ายึดครองเมืองสำคัญของยูเครน การถล่มด้วยสารพัดอาวุธหนัก เพื่อเร่งกดดันและปิดเกมสงครามอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้กำลังทหารราบจำนวนมากในการเข้ายึดครองเมืองใหญ่ของยูเครน เพื่อไม่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อกองกำลังทหารราบมากจนเกินไป

สื่อจากฝั่งตะวันตกรายงานว่า กองกำลังของรัสเซียได้ระดมยิงขีปนาวุธพื้นสู่พื้นเข้าใส่เมืองคาร์คีฟ รวมถึงรถถังและยานหุ้มเกราะจำนวนมากที่บุกตะลุยข้ามพรมแดนจากเบลารุสเข้าสู่ยูเครน สร้างความสูญเสียให้กับทหารยูเครนและอาคารสถานที่ราชการจำนวนมากที่ถูกโจมตีด้วยจรวดจนพังถล่มเสียหายอย่างหนัก รัสเซียสูญเสียเครื่องบินขับไล่อย่างน้อย 5 ลำ รวมถึงอากาศยานรบแบบปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์รบอีกหลายลำ จากระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครน หลังจากสงครามเปิดฉากได้สามวัน ระบบต่อต้านอากาศยานและสถานีเรดาร์ของยูเครนก็ถูกถล่มด้วยเครื่องบินรบของกองทัพอากาศหมีขาวจนพังราบ

การจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบเป็นยุทธศาสตร์ของรัสเซียที่คล้ายกับการบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการบุกจู่โจมอย่างรวดเร็วด้วยกองกำลังทหารราบ รถถัง รถสายพานลำเลียงพล และกองพันปืนใหญ่ ที่ยิงกระหน่ำใส่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ก่อนที่ทหารราบและกองพลรถถังจะบดขยี้เป้าหมายซ้ำแบบไม่ให้ทันได้ตั้งตัว ผ่านมาสี่วัน ยูเครนถูกถล่มด้วยจรวดติดหัวรบขนาดหนัก ขีปนาวุธพื้นสู่พื้นระยะใกล้ รวมถึงการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงของเครื่องบินรบฝั่งหมีขาว ฉากของสงครามยุคใหม่ลามจากตะวันออกไปจนถึงฝั่งตะวันตกของยูเครน ทำให้จุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น ศูนย์บัญชาการรบ ฐานทัพอากาศ สถานีเรดาร์ คลังน้ำมัน และท่อแก๊ส ถูกถล่มจนเสียหายอย่างย่อยยับ และต่อไปนี้คืออาวุธหนักที่รัสเซียใช้ในสงครามบุกยูเครน

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad
เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1963 และมีการพัฒนาเรื่อยมาเพื่อเป็นการทดแทนจรวดหลายลำกล้อง BM-14 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ช่วงยุค 50 จรวดหลายลำกล้อง BM-21 ถูกใช้งานในสนามรบจริงครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1969 ระหว่างการปะทะบริเวณชายแดนระหว่างรัสเซียกับจีน หลังจากนั้นจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน มีประจำการในกองทัพประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศ

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 ใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร จำนวน 40 ท่อยิง ติดตั้งบนแคร่รถบรรทุก Ural จรวดรุ่นเก่ามีระยะยิง 20 กิโลเมตร ต่อมามีการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ ทำให้ BM-21 มีระยะยิงไกลสุดมากถึง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเตรียมการยิงแค่ 3 นาที สามารถทำการยิงจรวดทั้ง 40 ลูก ภายในเวลาเพียงแค่ 20 วินาที หลังทำการยิง สามารถเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้ภายในเวลา 2 นาที กลับไปบรรจุจรวดใหม่ในแนวหลัง เพื่อป้องกันการยิงตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม การบรรจุจรวดใช้ระบบแมนนวล ใช้เวลาประมาณ 7-10 นาที จึงจะบรรจุจรวดได้ครบทุกท่อยิง BM-21 มีประสิทธิภาพในการทำลายล้าง ด้วยอัตราการยิงที่รวดเร็วและครอบคลุมเป้าหมาย พื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จรวดหลายลำกล้อง BM-21 หนึ่งกองพันจะมี 18 ระบบ สามารถทำการยิงจรวดกว่า 720 ลูก ปูพรมถล่มพื้นที่เป้าหมายได้ในระลอกเดียว ภายในเวลาเพียง 20 วินาที อย่างไรก็ตาม การที่จรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้ถูกออกแบบมาใช้ยิงปูพรมพื้นที่บริเวณกว้าง ก็ส่งผลให้ขาดความแม่นยำในการทำลายเป้าหมายเป็นจุดๆ ถ้าต้องการความแม่นยำในการทำลายเป้าหมายเฉพาะเป็นจุดๆ ไป ปืนใหญ่อัตตาจรระยะไกลเล็งยิงด้วยระบบดิจิตอลจะมีความเหมาะสมกับภารกิจดังกล่าวมากกว่า (ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2021/07/08/soviet-bm-21-grad-mlrs/)

จรวดหลายลำกล้อง Tornado-G
พัฒนามาจากจรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad ของอดีตสหภาพโซเวียต โครงการพัฒนาจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้เริ่มขึ้นช่วงยุค 90 เปิดตัวต้นแบบครั้งแรกในปี ค.ศ.1998 แต่เนื่องจากขาดงบประมาณ ส่งผลให้กองทัพรัสเซียเพิ่งจะจัดหาจรวดหลายลำกล้อง Tornado-G ชุดแรกจำนวน 36 ระบบ ในปี ค.ศ.2011 และได้รับมอบเข้าประจำการในปี ค.ศ.2012 ปัจจุบัน กองทัพรัสเซียทยอยประจำการจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนจรวดหลายลำกล้อง BM-21 ที่มีใช้งานอยู่ทั้งหมด

Tornado-G ใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ท่อยิง ติดตั้งบนรถบรรทุก 6×6 Ural-4320 น้ำหนัก 14 ตัน ขนาดยาว 7.35 เมตร กว้าง 2.5 เมตร สูง 3.1 เมตร ระบบควบคุมการยิงได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบยิงอัตโนมัติ เมื่อเทียบกับจรวดหลายลำกล้อง BM-21 รุ่นเก่า ลดพลประจำรถลงจาก 3 เหลือ 2 นาย จรวด Tornado-G สามารถทำการยิงจรวดทั้ง 40 ลูก ภายในเวลา 20 วินาที จรวดมีพิสัยยิงไกล 40 กิโลเมตร แต่มีข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันระบุว่ารัสเซียได้พัฒนาจรวดรุ่นใหม่ซึ่งมีระยะยิงไกลถึง 90-100 กิโลเมตรออกมาแล้ว จรวดลูกหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม น้ำหนักหัวรบดินระเบิดแรงสูงหนัก 25 กิโลกรัม การบรรจุจรวดใช้ระบบแมนนวลเหมือน BM-21 โดยจะใช้เวลาประมาณ 7 นาที ในการบรรจุจรวดครบทุกท่อยิง 

ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-300PM2
S-300PM2 พัฒนาขึ้นช่วงปลายยุค 90 เป็นขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลรุ่นก่อนหน้าของ S-400 มีระยะยิงไกลสุด 250 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพสูงกว่า S-300PS จากยุคอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งมีระยะยิงเพียง 75 กิโลเมตร เข้าประจำการตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2021) รัสเซียทดแทน S-300PS บริเวณชายแดนติดกับยูเครนด้วย S-300PM2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมายูเครนได้พัฒนาจรวดและขีปนาวุธรุ่นใหม่หลายรุ่น เช่น ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Grom, จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ Neptune เป็นต้น นอกจากนี้ยูเครนยังได้จัดหาโดรน Bayraktar TB2 จากตุรกีเข้ามาประจำการ อาเซอร์ไบจานเคยใช้โดรนรุ่นนี้จัดการฐานยิง S-300PS ของอาร์เมเนีย ระหว่างการสู้รบในพื้นที่พิพาทนาร์กอโน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) มาแล้ว การติดตั้ง S-300PM2 แทนที่ S-300PS นอกจากจะช่วยให้รัสเซียรับมือยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ของยูเครนเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระยะยิงที่ไกลขึ้น ช่วยให้รัสเซียสามารถป้องกันภัยทางอากาศให้กองกำลังภาคพื้นดิน ในขณะที่กองกำลังรัสเซียข้ามชายแดนเข้าแทรกแซงในดอนบัส 
ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2021/12/14/russia-to-upgrade-air-defense-systems-along-border-with-ukraine/

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M
Mi-35 ของรัสเซีย มีพื้นฐานมาจากเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 Hind ของอดีตสหภาพโซเวียต ใช้งานมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น มีฉายาว่ารถถังบิน (Flying Tank) รัสเซียตั้งใจจะพัฒนา Mi-35 สำหรับส่งออกเป็นหลัก แต่ในรุ่นหลังๆ เช่น Mi-35M หรือ Hind-E มีการติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์และเซนเซอร์ที่ทันสมัย ปฏิบัติการรบทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้กองทัพรัสเซียจัดหา Mi-35M เข้าประจำการมากกว่า 60 ลำ และมีลูกค้าต่างประเทศจัดหาไปใช้งานจำนวนมาก เป็นหนึ่งในเฮลิคอปเตอร์ที่ขายดีที่สุดของรัสเซีย

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.2005 มีขนาดยาว 17 เมตร สูง 6.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์ GTD TV3-117VMA จำนวน 2 เครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุด 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 435 กิโลเมตร เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M สามารถค้นหาเป้าหมายประเภทรถถังของฝ่ายตรงข้ามได้ที่ระยะไกลสุดถึง 10 กิโลเมตร มีระบบอาวุธประกอบด้วยปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 23 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง บรรทุกกระสุน 450 นัด และมีตำบลติดอาวุธ 6 จุดสำหรับติดฝักจรวดไม่นำวิถี S-8 ขนาด 80 มิลลิเมตร, จรวดต่อสู้รถถัง Shturm-V, จรวดต่อสู้รถถัง Ataka-V หรือจรวดต่อสู้อากาศยาน Igla-V

ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2022/02/21/russia-mi-35m-attack-helicopter

ขีปนาวุธเคลื่อนที่พื้น-สู่-พื้น 9K720 Iskander-M
ขีปนาวุธทางยุทธวิธีที่ติดหัวรบดินระเบิดแรงสูงขนาดหนัก ใช้โจมตีด้วยการยิงจากระยะไกลเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำลายด้วยอากาศยานของข้าศึก 9K720 Iskander-M ติดตั้งบนรถบรรทุกล้อยางเคลื่อนที่ สามารถติดตั้งขีปนาวุธได้ 2 ลูก มีพิสัยยิง 400-500 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดขณะเคลื่อนเข้าหาเป้าหมายอยู่ที่ 5.9 มัค เลือกหัวรบได้หลากหลาย ทั้งระเบิดแรงสูงตั้งแต่ 400-700 กิโลกรัม หัวรบติดสะเก็ดระเบิดแบบดาวกระจายเพื่อทำลายเป้าหมายจำนวนมาก ระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ ระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมไปถึงการติดหัวรบนิวเคลียร์ 9K720 Iskander-M เป็นขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง ออกแบบมาสำหรับสงครามยุคใหม่ที่เน้นการทำลายเป้าหมายทางทหารขนาดใหญ่

รถถัง T-90A
T-90 เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี 2004 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการรุกรบของยานยนต์หุ้มเกราะติดอาวุธหนักที่กลายเป็นแกนหลักในการบุกจู่โจม ป้อมปืนทรงเหลี่ยมแบบเชื่อม แตกต่างจาก T-90 รุ่นแรก น้ำหนัก 46.5 ตัน อาวุธของ T-90A คือปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีระยะยิงไกล 5 กิโลเมตร มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ อัตราการยิงสูงสุด 7 นัดต่อนาที ส่วนอาวุธรองได้แก่ ปืนกลร่วมแกน PKMT ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร Kord ควบคุมด้วยรีโมต เกราะทำจากวัสดุคอมโพสิต เสริมด้วยเกราะ ERA รุ่น Kontakt-5 ซึ่งสามารถป้องกันจรวดต่อสู้รถถัง TOW ที่ผลิตในสหรัฐฯได้ และระบบป้องกันแบบแอคทีฟ Shtora-1 เครื่องยนต์ดีเซล V-92S2 กำลัง 1,000 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการไกล 500 กิโลเมตร สามารถติดถังน้ำมันสำรองภายนอกบริเวณท้ายรถเพื่อเพิ่มระยะปฏิบัติการให้ไกลขึ้น สำหรับ T-90A จำนวนกว่า 400 คัน มีการทยอยอัปเกรดให้กลายเป็น T-90M ที่มีขีดความสามารถในการรบเพิ่มมากขึ้น.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/