ทำความรู้จักกับ “การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery)”




เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเกิดความผิดปกติหรือบาดเจ็บขึ้น “การผ่าตัด” นับเป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการเหล่านั้น ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการอื่น ซึ่งส่วนใหญ่การผ่าตัดจะเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หรือ ผู้ป่วยทั่วไปที่โรคสามารถรอได้บ้าง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วย

ปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

     1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่มาตรฐาน

     2. การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง หรือ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก

     3. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่มาตรฐาน

เป็นการผ่าตัดมาตรฐานทั่วไป โดยผ่าตัดเปิดกล้ามเนื้อ ลงไปถึงอวัยวะตำแหน่งที่ต้องการรักษาและทำการรักษาโรคนั้นๆ หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์ก็จะเย็บปิดแผลหน้าท้องกลับเช่นเดิม ซึ่งจะแผลจะใหญ่มากหรือน้อยขึ้นกับโรคแต่ละโรคที่ทำการรักษา ผู้ป่วยมักจะมีแผลขนาดใหญ่กว่าแผลผ่าตัดแบบอื่นๆ ได้รับความเจ็บปวดมาก อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แผลผ่าตัดจากการมีแผลขนาดใหญ่ และต้องใช้เวลาในขยับตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากอาจจะเจ็บมากกว่า ทำให้การพักฟื้นและฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่า

2. การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดแบบแผลเล็ก

คือ การผ่าตัดโดยการใช้กล้อง และอุปกรณ์ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กๆ แต่ยาวเจาะรูปลงไปผ่านชั้นกล้ามเนื้อไปยังอวัยวะภายใน โดยที่จำนวนรูที่เจาะมากหรือน้อยขึ้นกับความซับซ้อนของการผ่าตัดแต่ละชนิด เพื่อทำการผ่าตัดอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องการ แม้ว่าขนาดของกล้องและอุปกรณ์จะเล็ก แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้สามารถผ่าตัดได้หลากหลายชนิด ซึ่งการที่แพทย์เจาะรูหลายๆ รู ก็เป็นการกระจายความปวดไปตำแหน่งต่างๆ ไม่ได้รวมที่แผลใหญ่ที่เดียวกัน ทำให้เจ็บน้อยกว่า ที่สำคัญมักมีความเข้าใจความหมายผิดกับการส่องกล้อง โดยที่การผ่าตัดแบบการเจาะรูผ่านกล้องเป็นการผ่าตัด คนละชนิดกับหัตถการส่องกล้อง ที่ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หรืออวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งอาจจะทำร่วมกับการตัดเนื้องอกผ่านกล้อง

ข้อดี

  • ผลลัพธ์ที่ได้จากการผ่าตัดมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่มาตรฐาน เนื่องจากสามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่จะผ่าตัดได้ชัดเจน
  • สามารถทำได้หลายโรค ทั้งในโรคทั่วไป เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ รวมถึงโรคมะเร็งก็สามารถทำได้เช่นกันโดยที่ผลการรักษาเหมือนการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลง
  • ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อย สามารถกลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำงานของปอดและหัวใจกลับมาทำงานได้ปกติเร็วขึ้น
  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานานๆ ได้
  • เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
  • หากต้องมีการผ่าตัดซ้ำ สามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากแผลผ่าตัดที่ใหญ่มักมีพังผืด หรืออวัยวะภายในมาเกาะรบกวนที่แผลผ่าตัดมากกว่า

ข้อเสีย

  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่าและใช้เวลานานกว่า การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่มาตรฐาน แต่ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้บางส่วน
  • มีข้อจำกัดบางอย่างในการผ่าตัด เช่น ในคนไข้โรคหัวใจหรือโรคปอดที่รุนแรง เนื่องจากจะทำให้หัวใจทำงานหนัก จึงอาจจะไม่เหมาะกับไข้เหล่านี้
  • ในคนท้องแก่ บางครั้งก็อาจจะเป็นหัตถการที่ทำได้ยากเช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดและข้อเสียของการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง แต่โดยรวมแล้วข้อดี และผลลัพธ์จากการผ่าตัดที่คนไข้จะได้รับก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งปัจจุบันหัตถการการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง ก็สามารถทำได้ในหลายๆ โรงพยาบาล จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย

3. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

เป็นนวัตกรรมใหม่ของการผ่าตัด คือ การนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดของศัลยแพทย์ ซึ่งหุ่นยนต์แต่ละรุ่นก็มีราคาแตกต่างกันออกไป ซึ่งการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์นี้ต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์โดยเฉพาะ เป็นหัตถการที่มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง และสามารถทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น

ข้อดี

  • กล้องของหุ่นยนต์เป็นกล้องแบบ 3 มิติ จึงสามารถส่องและซูมเข้าไปได้ลึกกว่าการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง
  • แขนของหุ่นยนต์จะสามารถหมุนได้เยอะกว่าและทำงานได้ดีในมุมที่ลึกและแคบ เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะแขนของหุ่นยนต์สามารถเข้าไปในบริเวณที่ลึกและแคบได้อย่างดี
  • การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์มีความเสถียรมาก เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่มีความอ่อนล้าเหมือนคน และที่สำคัญแขนของหุ่นยนต์จะมีความนิ่งกว่ามือของคน

ข้อเสีย

  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงมาก
  • การผ่าตัดยังทำได้ไม่หลากหลาย เหมาะกับการผ่าตัดเพียงบางประเภทเท่านั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเลือกผ่าตัดด้วยวิธีใดก็ตาม แพทย์ก็จะพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยว่ามีทางเลือก สามารถผ่าตัดแบบใดได้บ้าง และการผ่าตัดแบบใดเหมาะสำหรับผู้ป่วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรก

@ @ @ @ @

แหล่งข้อมูล

รศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล