ตามรอยพระพุทธเจ้า..ในแดนพุทธภูมิ ผ่านสังเวชนียสถานแห่งใหม่ใน 8 รัฐ




พุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนไม่น้อย อาจจะเคยเดินทางไปแสวงบุญในเส้นทางที่เรียกว่า สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ในประเทศอินเดีย ซึ่งประกอบด้วย วิหารมายาเทวี เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ ประสูติ วิหารมหาโพธิ เมืองคยา รัฐพิหาร สถานที่ ตรัสรู้ ธัมเมกขสถูป เมืองสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ สถานที่ แสดงปฐมเทศนา และวิหารมหาปรินิพพาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สถานที่ปรินิพพาน

แต่ในความเป็นจริง สถานที่ที่พระพุทธองค์มีความเกี่ยวข้องในดินแดนชมพูทวีปนั้นมีมากมายอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในรัฐที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ รัฐมหาราษฎร์ ซึ่งมีชาวพุทธอาศัยอยู่มากกว่า 6.5 ล้านคน อันเนื่องมาจากการปลดแอกวรรณะของบิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย คือ ดร.บี. อาร์ อัมเบ็ดการ์

ล่าสุด ในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-อินเดีย ในวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย สถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย โดย ฯพณฯ สุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมไตรรัตนภูมิ จึงได้กำหนดจัด กิจกรรม “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ” โดยมี กากัน มาลิก ดาราบอลลีวูด ซึ่งโด่งดังจากละครเรื่องพระพุทธเจ้า พระราม หนุมาน และยังเป็นอดีตพระอโศโก ภิกขุ ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้เข้ามาขอรับการอุปสมบทที่ประเทศไทย เป็นเวลา 99 วัน เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นหลักในการร่วมจัดงาน

สำหรับ 8 รัฐ ที่เป็นเส้นทางสังเวชนียสถานแห่งใหม่ ประกอบด้วย รัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ รัฐมัธยประเทศ รัฐคุชราด รัฐโอฑิสา รัฐอานนทรประเทศ รัฐเตลังคานา และ รัฐมหาราษฎร์

กากัน มาลิก หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานครั้งนี้บอกว่า สถานที่หลายแห่งใน 8 รัฐ มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับองค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง อย่างเช่น รัฐอุตตรประเทศ เป็นรัฐในทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีประชากรราวสองร้อยล้านคน ถือเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยพุทธกาล มีสังเวชนียสถานอย่างน้อย 2 แห่งเดิมที่มีความสำคัญของชาวพุทธคือ ธัมเมกขสถูป เมืองสารนาถ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และวิหารมหาปรินิพพาน สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แต่ยังมีสถานที่สำคัญอีก 3-4 แห่ง เช่น

สังกัสสะ เมืองโบราณ สมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองที่เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์เสด็จไปทรงจำพรรษาที่ 7 หลังการตรัสรู้ ณ ดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา ปิปราห์วาสถูป สถานที่เคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หมู่บ้านปิปราห์วา อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกรุงกบิลพัสดุ์ รัฐอุตตรประเทศ จุนทะสถูป สถูปโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เมืองปาวา รัฐอุตตรประเทศ หรือแม้แต่ในรัฐพิหารก็มี เกสริยาสถูป สถูปพบใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย สถานที่ประดิษฐานบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานแก่ชาววัชชี

หรือใน รัฐโอฑิสา ที่เคยเป็นนครกาลิงคะในอดีตเป็นดินแดนมหาสงครามที่เต็มไปด้วยการนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยสงครามของพระเจ้าอโศกมหาราชและเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของพระองค์ ในศิลาจารึกบนเสาหินเสาที่ 13 พระเจ้าอโศกได้บันทึกว่าพระองค์ทรงรบชนะเมืองกาลิงคะด้วยสงครามอันนองเลือดในครั้งนั้นเองที่ทำให้พระองค์ได้เปลี่ยนพระทัยเลิกการทำสงครามเข่นฆ่าผู้คนหันกลับมาทรงศึกษาพระศาสนา

นอกจากนี้ ยังมี แหล่งมรดกโลก 3 เหลี่ยมเพชรแห่งพระพุทธศาสนา (ลลิตคีรี–อุทัยคีรี–รัตนคีรี) ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในอดีต แหล่งสุดท้ายก่อนศาสนาพุทธจะหายสาบสูญไปจากอินเดียนานกว่า 1,000 ปี ซึ่งปัจจุบันยังสามารถพบเห็นพุทธสถาน อารามโบราณ ซากสถูป และพระพุทธรูปหินแกะสลัก เป็นจำนวนมาก หลักฐานปรากฏตามบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ระบุว่า ลลิตคีรี เป็นพุทธสถาน ในนามของ “ปุษปคีรีมหาวิหาร” โดยระบุถึงสถูปองค์ใหญ่บนยอดเขาลลิตคีรี และพระวิหารอารามต่างๆรวมไปถึงสถูปน้อยใหญ่มากมาย ปัจจุบันพุทธสถานแห่งนี้ยังปรากฏร่องรอยสถูปและวิหารขนาดใหญ่ ตลอดจนพระพุทธรูปหินแกะสลัก พระโพธิสัตว์อวโลกิ เตศวร พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และเทพบริวารต่างๆ หรือ หมู่พุทธสถานแห่งอุทัยคีรี ซึ่งมีอักษรโบราณบริเวณพื้น ซึ่งศาสนาพุทธนิกายมหายานมีความเชื่อว่าเป็น “อักษรหรือภาษาของนาค” ที่ได้มีการทำพันธสัญญาร่วมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะดูแลคุ้มครองพระพุทธองค์และพุทธสถาน รวมทั้ง “มัทวะปุระมหาวิหาร” พุทธสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรัฐโอฑิสา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยที่พระพุทธศาสนาในรัฐโอฑิสามีความเจริญสูงสุด ในช่วงศตวรรษที่ 7-12 มีการขุดพบสถูปขนาดใหญ่ วิหาร 2 แห่ง รวมไปถึงศิลาจารึกหิน พระพุทธรูปจำนวนมาก และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหินแกะสลักที่บางส่วนยังคงถูกฝังอยู่ใต้พื้นดิน โดยบริเวณเนินเขาจะปรากฏสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดลงไปในพื้นหินซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำที่มีมาแต่ยุคโบราณ

ซึ่งสถานที่และเรื่องราวเหล่านี้จะถูกนำมาแสดงในงานนิทรรศการ “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ” ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ ณ คิว สเตเดียม ชั้นเอ็ม (M) ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์.