“ตรวจมวลกระดูก” ก่อน “กระดูกพรุน” (ตอน 2)




หลังจากที่ได้รู้จักภาวะกระดูกพรุน และขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นของกระดูกกันไปแล้ว ศุกร์สุขภาพ สัปดาห์นี้ยังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจวัดมวลกระดูกกันต่อ

ใครที่ควรตรวจความหนาแน่นของกระดูก

1. ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป

2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี รวมทั้งผู้ที่ตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง

3. ผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาลดระดับฮอร์โมนเพศ หรือมีการกดการทำงานของต่อมใต้สมอง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางอายุรกรรมหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน เป็นต้น ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

4. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี หรือผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี ที่มีความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

     4.1 ได้รับกลูโคคอร์ติคอยด์ ขนาดเทียบเท่าหรือมากกว่าเพรดนิโซโลน 5 มก./วัน ต่อเนื่องกัน
ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

     4.2 มีบิดาหรือมารดาที่มีประวัติกระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง มีดัชนีมวลกาย
น้อยกว่า 20 กก./ตร.ม.

    4.3 มีส่วนสูงลดลงตั้งแต่ 4 ซม.ขึ้นไป เมื่อเทียบกับประวัติส่วนสูงที่มากที่สุดของผู้ป่วย หรือ 2
ซม.ขึ้นไปจากบันทึกการวัดส่วนสูง 2 ครั้ง

    4.4 ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วย aromatase inhibitor หรือผู้ชายที่ได้รับการรักษาด้วยการลด
ฮอร์โมนแอนโดรเจน

    4.5 ภาพรังสีแสดงลักษณะ osteopenia หรือกระดูกสันหลังผิดรูปจากการหักของกระดูกสันหลัง

    4.6 มีประวัติกระดูกหักที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง

5. ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทุกรายก่อนเริ่มยารักษาโรคกระดูกพรุน และติดตามผลที่ 1–2 ปีหลังการรักษา

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

     กิจกรรมทางกาย

    การที่มีกิจกรรมทางกายน้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระดูกพรุน และการเพิ่มกิจกรรมทางกายมีบทบาทช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งผลของกิจกรรมทางกายที่ทำเป็นประจำในการทำงาน และการเดินทางที่ทำให้เกิดความเหนื่อยระดับปานกลาง เช่น การยกของหนัก การเดิน การปั่นจักรยาน เป็นต้น พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความหนาแน่นของกระดูก

     แคลเซียม

แคลเซียมเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างหลักของกระดูก การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอจึงมีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง และการขาดแคลเซียมจึงเป็นความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน

     วิตามินดี

วิตามินดีมีมีบทบาทสำคัญต่อเมแทบอลิซึมต่อกระดูก โดยวิตามินดีจะกระตุ้นการดูดซึมของแคลเซียมที่ลำไส้ และกดการสลายกระดูก โดยการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ การที่ความหนาแน่นของกระดูกต่ำ อาจเกิดได้จากโรคกระดูกแข็งที่อ่อนและโค้งงอได้ (osteomalacia) อันเนื่องมาจากการขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถเติมแร่ธาตุในกระดูก ส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกต่ำได้เช่นเดียวกับโรคกระดูกพรุน

     การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระดูก ผลทางอ้อม ได้แก่ คนที่สูบบุหรี่มักจะมีความเจริญอาหารลดลง มีความสัมพันธ์กับการมีระดับวิตามินดีต่ำ มีระดับคอร์ติซอลสูง ซึ่งจะลดการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ และการดูดแคลเซียมกลับที่ไต และเพิ่มภาวะเครียดของร่างกายที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการเกิดอนุมูลอิสระและการป้องกันอันตรายจากภาวะเครียดดังกล่าว

ส่วนผลทางตรงของบุหรี่ คือ นิโคติน ถึงแม้ว่านิโคตินในบุหรี่ปริมาณเล็กน้อยจะทำให้ osteoblast เพิ่มจำนวนขึ้น แต่นิโคตินในปริมาณมากจะทำให้เซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลง ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มักจะหมดประจำเดือนเร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบได้ถึง 2 ปี ความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักจะสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 17 และ 41 ที่อายุ 60 และ 70 ปี ตามลำดับ ทั้งนี้ยังพบว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลา 10 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงร้อยละ 30

     การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อยต่อกระดูกนั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่ผู้หญิงที่ดื่ม ตั้งแต่ 2 หน่วยของแอลกอฮอล์ต่อวันขึ้นไป (ปริมาณ 1 หน่วยของแอลกอฮอล์เท่ากับ 8-10 กรัมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเทียบเท่ากับเบียร์ 285 มล. สุรา 30 มล. ไวน์ 120 มล. หรือเอเพอริทิฟ (aperitif) 60 มล.) จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเป็น 1.63 เท่าของผู้หญิงที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

กรณีที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อกระดูกควรติดตามการรักษา และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์

@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ. พญ.ชนิกา ศรีธรา สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล