ซื้อ RMF SSF ไม่ต้องรอโค้งสุดท้าย




ใกล้ปลายปีแบบนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ส่วนใหญ่ มักจะหาซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษีต่างๆกันอย่างคึกคัก เพื่อเอาไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเมื่อถึงเวลายื่นจ่ายภาษีในปีหน้า

แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เล่นงานทุกคน แบบไม่แบ่งแยกเพศ อายุ และฐานะอาจส่งผลให้การซื้อกองทุนปีนี้ ไม่ค่อยคึกคักเหมือนปีก่อนๆ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเอาเงินออมที่กันไว้ มาเยียวยาเลี้ยงชีพอาจไม่มีเงินมาซื้อกองทุนรวม RMF-SSF หรือซื้อได้แต่ก็น้อยลงกว่าที่วางแผนไว้

อย่างไรก็ตาม นักวางแผนการเงินจะแนะนำการซื้อกองทุนรวมที่เหมาะสม คือการทยอยลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) คือการลงทุนแบบสม่ำเสมอ ด้วยเงินจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งจะช่วยในการบริหารความเสี่ยงของเงินที่ลงทุนได้

เราไม่ควรรอซื้อกองทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของทุกปีเหมือนที่เคยชินทำกันทุกปี ที่ถูกที่ควรทำ คือทยอยซื้อสะสมทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี

ส่วนจะซื้อกองทุนไหนดีนั้น เพราะแต่ละกองทุนจะกำหนดนโยบายในการลงทุนแตกต่างกันไป ผู้ลงทุนต้องไปศึกษาหาข้อมูล และเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายของผลตอบแทนที่เราต้องการและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จะเห็นได้ว่ายิ่งเรามีเวลาตัดสินใจมากเท่าไร ก็ยิ่งดีกับตัวเราเอง

นอกจากนี้ คุณนายพารวยอยากให้มองกองทุนรวม RMF–SSF ว่า เป็นการวางแผนออมเงินระยะยาว ลงทุนเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณเป็นประโยชน์หลัก ส่วนการได้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องรองลงมา เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของกองทุนเหล่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรู้จักออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ โดยรัฐส่งเสริมการออมเพื่อเกษียณ คือให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อกองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้!!

ในส่วนของกองทุนรวม RMF หลักๆแล้ว มีนโยบายการลงทุน 4 ประเภท คือ 1.กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น 100% (มีทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ) 2.กองทุนรวมผสมที่มีนโยบายลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ หรือตราสารอื่นๆ 3.กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ (มีทั้งไทยและต่างประเทศ) 4.กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ กอง REIT เป็นต้น

คนที่รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังอยากจะขอลอง อาจเลือกกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้น แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ รับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ ไม่อยากเครียดก็เลือกกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนผสม

สิ่งที่ต้องดูอีกอย่าง คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ผู้ออกกองทุนมีความมั่นคงแค่ไหน ผู้จัดการกองทุนเป็นใคร ผลงานที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนให้กองทุนที่ดูแลเป็นอย่างไร แม้ผลงานที่ผ่านมาไม่ได้รับประกันถึงผลตอบแทนในอนาคต แต่เจ้าของเงินคงสบายใจกว่าที่จะลงทุนกับกองทุนที่ทำผลงานได้ดีและสม่ำเสมอ!!

และอย่าลืมว่าตลาดหลักทรัพย์ฯมีโครงการ POINT to INVEST ที่จับมือกับสถาบันการเงินให้นำพอยต์บัตรเครดิตมาแลกซื้อกองทุนรวมได้ ใช้คะแนนได้คุ้มค่าสุดๆ ก็คราวนี้แหละ

ถ้าคิดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.setinvestnow.com ไปหาความรู้เกี่ยวกับการออม การลงทุนกองทุน SSF-RMF และเทคนิคการประหยัดภาษี ที่มีให้ศึกษากันแบบเข้าใจง่ายๆ!!

คุณนายพารวย