การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะท้ายด้วย “การปลูกถ่ายไต” (ตอน 2)




ผู้ป่วยไตวายควรเริ่มทำการปลูกถ่ายไตเมื่อไหร่

แนะนำให้เริ่มกระบวนการปลูกถ่ายไตเมื่อไตวายเรื้อรังมีแนวโน้มที่จะต้องทำการฟอกไต แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะได้รับการปลูกถ่ายไตหลังทำการฟอกไตแล้ว เนื่องจากอวัยวะขาดแคลน

การปลูกถ่ายไตก่อนเริ่มฟอกไตเรียกว่า “preemptive kidney transplant” คือ การปลูกถ่ายไตก่อนเริ่มการฟอกไต หรือหลังฟอกไตแล้วไม่เกิน 6 เดือน การปลูกถ่ายไตแบบนี้มีข้อดี คือ อัตราการอยู่รอดของไต และอัตราการรอดอยู่ชีวิตของผู้ป่วยนานกว่าการปลูกถ่ายไตหลังการฟอกไต แต่ข้อจำกัดการปลูกถ่ายประเภทนี้มักจะจำกัดอยู่ในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่มีชีวิตเท่านั้น

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบไหนควรเข้ารับการปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 5 หรือระยะที่ 4 ที่มีแนวโน้มต้องฟอกไต ควรจะต้องได้รับการประเมินเพื่อการปลูกถ่ายไตทุกราย หากไม่มีข้อห้าม ซึ่งโดยปกติแล้วอายุรแพทย์โรคไต หรือศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะจะเป็นผู้ประเมินเป็นหลัก ซึ่งหลักการปลูกถ่ายไตต้องเปรียบเทียบประโยชน์กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก่อนทำการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วย

การปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยนั้นประโยชน์ต้องมีมากกว่าความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับเสมอ

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะกระทำเมื่อประเมินและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว โดยมีขั้นตอนการปลูกถ่ายไต ดังนี้

1. ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิก่อนการผ่าตัดในหอผู้ป่วย

2. ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในห้องผ่าตัด

3. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อสังเกตอาการ และปรับยากดภูมิคุ้มกันจนกระทั่งกลับบ้าน

การผ่าตัดการปลูกถ่ายไต

โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดการปลูกถ่ายไต จะเป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณเชิงกรานด้านขวา หรือด้านซ้าย แล้วนำไตปลูก (kidney graft) วางลงนอกช่องท้องแล้วเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำเข้ากับหลอดเลือดของผู้รับ จากนั้นจะทำการต่อท่อไตเข้ากับกระเพาะปัสสาวะแล้วจึงเย็บปิดแผลผ่าตัด

วิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตประเภทต่างๆ ที่พบไม่บ่อย จะไม่ขอกล่าวถึง เช่น การวางไตลงในช่องท้อง การผ่าตัดปลูกถ่าย 2 ไต การปลูกถ่ายไตจากเด็กเล็ก เป็นต้น

การปฏิบัติตัวหลังปลูกถ่ายไต

• ผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไตจะต้องรับประทานยากดภูมิตลอดชีวิตตลอดเวลาที่ไตยังคงทำงานอยู่

• การรับประทานยากดภูมิจำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องรับประทานยาตรงเวลา ไม่ลืมรับประทานยา

• ระยะเวลา 3-6 เดือนแรก หลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการติดเชื้อเป็นพิเศษ เนื่องจากจะต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง หลังการปลูกถ่ายไต

• ผู้ป่วยต้องมาตามนัดตรวจแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง

• เฝ้าระวังสังเกตอาการที่ผิดปกติ หากเกิดอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้ซื้อยารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์และรับการปรึกษา

เพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์หลังการปลูกถ่ายไต

• ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

• ผู้ป่วยหญิงต้องคุมกำเนิดหลังการปลูกถ่ายไตอย่างน้อย 1 ปี หากต้องการมีบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

• ผู้ป่วยชายหากต้องการมีบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การปลูกถ่ายไตนั้นมีประโยชน์และเป็นมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ดีที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายควรได้รับการประเมินเพื่อปลูกถ่ายไต หากไม่มีข้อห้ามการปลูกถ่ายไต

————————————————-

แหล่งข้อมูล
ผศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล หน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล