การรักษามะเร็งตับเฉพาะที่ ด้วยวิธีรังสีร่วมกับการรักษาอื่นๆ




ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งตับนั้นมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย

การรักษามะเร็งตับ

ในกรณีป่วยเป็นโรคมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น และผู้ป่วยยังมีสุขภาพโดยรวมที่แข็งแรง มีก้อนเนื้อมะเร็งที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดรักษาตับ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ หากการผ่าตัดสำเร็จ เป็นไปได้ด้วยดี ผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติได้

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เช่น มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม สภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยต่อการผ่าตัด ผู้ป่วยสูงอายุ ขนาดหรือตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็งไม่เหมาะสม ทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง แพทย์ก็จะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบเฉพาะที่ ด้วยหัตถการทางรังสีร่วมรักษา ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็งได้อย่างชัดเจน แม่นยำ และสามารถนำเครื่องมือขนาดเล็กต่างๆ เข้าไปทำการรักษาได้อย่างตรงจุด โดยทางเลือกในการรักษามีดังนี้

1. การจี้ทำลายก้อนเนื้อมะเร็งเฉพาะจุด

ปัจจุบันวิธีที่นิยมใช้ มีอยู่ 2 แบบ คือ
· Radiofrequency Ablation (RFA) หรือ การจี้ทำลายก้อนเนื้อมะเร็งด้วยคลื่นวิทยุ
คือการรักษาโดยการใช้เข็มที่สามารถปล่อยคลื่นวิทยุได้ สอดผ่านผิวหนังเข้าไปที่ก้อนมะเร็งภายในตับเพื่อทำลายก้อนเนื้อมะเร็งโดยตรง เข็มดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนสูง ประมาณ 90-100 องศาเซลเซียสที่ปลายเข็ม ใช้เวลารักษาประมาณ 20-40 นาที โดยความร้อนนี้จะทำให้เซลล์มะเร็งแห้งฝ่อและตายลงในที่สุด
· Microwave Ablation หรือการจี้ทำลายก้อนเนื้อมะเร็งด้วยคลื่นไมโครเวฟ
คล้ายกับวิธี RFA คือการสอดเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปที่ตับเพื่อทำลายเซลล์ก้อนเนื้อมะเร็งโดยตรง แต่วิธีนี้จะปล่อยเป็นคลื่นไมโครเวฟในปริมาณที่เหมาะสมแทน เมื่อก้อนเนื้อมะเร็งดูดซับพลังงานของคลื่นไมโครเวฟ ความร้อนที่ได้จากคลื่นไมโครเวฟจะทำให้เซลล์ก้อนเนื้อมะเร็งตาย

การรักษาแบบ RFA และ Microwave Ablation คือการรักษามะเร็งตับสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ ซึ่งทำได้ทั้งมะเร็งที่เกิดจากตับเอง หรือจากอวัยวะอื่นกระจายมาที่ตับ โดยมีการใช้เทคนิคทางรังสีร่วมรักษาในการช่วยระบุตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง วิธีการรักษานี้ไม่ซับซ้อนและมีผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็กลับบ้านได้ แต่การรักษานี้จะได้ผลดีในก้อนเนื้อมะเร็งที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร และมีข้อจำกัดในกรณีก้อนเนื้อมะเร็งอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือดหรือถุงน้ำดี

2. การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดงพร้อมด้วยการอุดกั้นหลอดเลือด Transarterial Chemoembolization (TACE)

คือการให้สารเคมีบำบัดเฉพาะที่ โดยผ่านสายสวนจากบริเวณขาหนีบเข้าไปยังหลอดเลือดแดงที่ตับ สายสวนจะเคลื่อนตัวไปตามหลอดเลือด โดยแพทย์จะใช้เทคนิคทางรังสีร่วมรักษาเข้ามาช่วยในการระบุตำแหน่ง และนำทางไปจนถึงจุดหมายจากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดตรงเข้าไปที่ก้อนเนื้อมะเร็ง และจะใช้สารอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้อมะเร็ง เพื่อลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยง เมื่อก้อนเนื้อมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยงก็จะมีขนาดเล็กลง เป็นการลดความรุนแรงของโรคได้

วิธีนี้เป็นการรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ หรือทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็กลง เพื่อสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกมะเร็งออกมาได้อย่างปลอดภัย

ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำ TACE ซ้ำอีกเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณ 6-8 สัปดาห์ หากยังมีก้อนมะเร็งหลงเหลือหรือเกิดขึ้นใหม่ เนื่องจากยังมีหลอดเลือดรอบข้างเข้ามาเลี้ยงบริเวณที่เคยมีก้อนเนื้อมะเร็งเดิมอยู่ ในบางครั้งแพทย์สามารถใช้วิธีนี้รักษาร่วมกับวิธี RFA หรือ Microwave Ablation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น

บทความโดย : ศูนย์รังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลพญาไท 1