การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เทรนด์เที่ยววิถีใหม่สร้างสุขกำลังสอง




เป็นฮีโร่ตัวจริงที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเคยสร้างรายได้ให้ประเทศสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท หลังเผชิญฝันร้ายจากวิกฤติโควิด-19 มาเกือบ 2 ปีเต็ม ถึงเวลาแล้วที่จะกดปุ่มรีสตาร์ตการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้เครื่องยนต์สำคัญกลับมาทำงานช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเก่าๆ คงใช้ไม่ได้ผลในยุคนิวนอร์มอล เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ทว่าในทางกลับกันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็มีเวลาได้พักหายใจ และฟื้นสภาพกลับมาสวยงามอีกครั้ง นับเป็นสัญญาณดี ซึ่งสะท้อนว่า

ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติมากเท่าที่ควร และคงถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาปลุกกระแส “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” หรือ “Responsible Tourism” ให้เป็นเทรนด์ฮอตอีกครั้งในหมู่นักท่องเที่ยวคุณภาพ

หลายคนอาจคุ้นหูคำว่า “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” เพราะทั่วโลกเริ่มพูดถึงแนวคิดนี้ครั้งแรก เมื่อปี 2007 ผ่านการประชุม “Cape Town Conference on Responsible Tourism in Destinations” ที่ประเทศ

แอฟริกาใต้ มีตัวแทนกว่า 280 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก เห็นพ้องกับแนวคิดการท่องเที่ยวที่ภาครัฐ, ชุมชน และนักท่องเที่ยว ร่วมกันสร้างค่านิยมให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น จนเกิดเป็น “ปฏิญญาเคปทาวน์” ให้นิยาม “การท่อง เที่ยวอย่างรับผิดชอบ” ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ใครๆก็เป็นได้ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ถ้าเข้าถึงหัวใจของ “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” ซึ่งจะมุ่งเน้นรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้คนท้องถิ่นมากขึ้น และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนเจ้าบ้าน นอกจากจะมอบประสบการณ์ที่

สนุกสนานยิ่งขึ้นแก่นักท่องเที่ยว ผ่านการเชื่อมโยงที่มีความหมายกับคนในท้องถิ่น และความเข้าใจในประเด็นวัฒนธรรม, สังคม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น การดึงคนในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมเชิงบวกต่อการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมก็สร้างความภูมิใจให้เจ้าบ้านได้อย่างมาก

ในฐานะแขกผู้มาเยือน นักท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ด้วยทัศนคติที่ดีมีจิตสำนึก และตระหนักถึงผลกระทบในทุกมิติ เริ่มจาก “ขั้นตอนวางแผนท่องเที่ยว” นักท่องเที่ยวคุณภาพควรใส่ใจเรื่องการจัดสัมภาระอย่างเหมาะสม, ไม่นำสิ่งที่จะกลายเป็นขยะเข้าพื้นที่เกินจำเป็น และคำนึงถึงรูปแบบการเดินทาง “อะไรลดได้ ควรปรับลด” เช่น การเลือกเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ, การเดินทางด้วยจักรยาน, พาหนะ Low Carbon หรือหากเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ก็ลดจำนวนคัน เพื่อไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

“ขั้นตอนระหว่างท่องเที่ยว” ควรเคารพเจ้าบ้าน ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดหรือสร้างความขัดแย้งต่อวัฒนธรรม, วิถีชีวิต, ความเชื่อ หรือค่านิยมท้องถิ่น รวมถึงลดการสร้างขยะ ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

“หลังกลับจากสถานที่ท่องเที่ยว” ถามตัวเองว่าเรามีความรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน ไม่ควรสร้างมลพิษ, ขยะ หรือปัญหาทิ้งไว้ให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าบ้าน

ในทางกลับกัน “เจ้าบ้าน หรือเจ้าของพื้นที่” ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, โรงแรม, การขนส่ง, ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ก็ควรยึดมั่นในวิถีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ใช่จ้องแต่หวังผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน ควรให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต, ไม่ละเมิดสิทธิของผู้มาเยือน หรือคนในพื้นที่ด้วยกันเอง ที่สำคัญต้องช่วยกันทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดี พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยด้วยรอยยิ้มจริงใจ.